ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทางการพม่าเริ่มโครงการจัดระเบียบคนต่างด้าวกับชาวมุสลิมโรฮิงจะในรัฐยะไข่


กระทรวงคนเข้าเมืองของพม่าเริ่มโครงการตรวจสอบเพื่อยืนยันสถานะพลเมืองในรัฐยะไข่ทางภาคเหนือของพม่า ซึ่งเคยเกิดการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จุดประสงค์ของโครงการนี้คือการตรวจสอบว่าใครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการสมัครเป็นพลเมืองของพม่า แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เบื้องหลังของโครงการนี้คือการจัดระเบียบคนต่างด้าวที่อยู่อาศัยในพม่าอย่างผิดกฏหมาย

นานมาแล้วที่ชาวมุสลิมผู้อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของพม่าเรียกตัวเองว่า ชาวโรฮิงจะ ซึ่งเป็นชื่อที่สหประชาชาติและหลายประเทศยอมรับ แต่รัฐบาลพม่ากำลังต้องการให้ชาวมุสลิมกลุ่มนี้ลงทะเบียนว่าพวกตนเป็นชาวเบงกาลี

คุณ Shwe Maung ชาวมุสลิมโรฮิงจะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาของพม่ากล่าวว่า ชาวโรฮิงจะส่วนใหญ่ยังลังเลที่จะลงทะเบียนว่าเป็นชาวเบงกาลี เนื่องจากตามกฏหมายปี ค.ศ 1982 จัดให้ชาวเบงกาลีเป็นชาวต่างชาติ บรรดาชาวมุสลิมโรฮิงจะจึงเกรงว่าหากพวกตนลงทะเบียนเป็นชาวเบงกาลี อาจจะมีผลกระทบต่อการสมัครเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์ของพม่าได้

คุณ Shwe Maung ระบุว่าโครงการลงทะเบียนคนต่างด้าวของพม่านั้นดูน่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะอาจมีผลให้ประชาชนมุสลิมจำนวนนับล้านคนถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มคนไร้สัญชาติ แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพม่ามานานหลายชั่วอายุคน

โครงการลงทะเบียนคนต่างด้าวของพม่าครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบเพื่อยืนยันสถานะพลเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่พม่าจะทำการตรวจพิสูจน์หลักฐานต่างๆว่าประชาชนแต่ละคนมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสมครเป็นพลเมืองของพม่าหรือไม่ แต่เนื่องจากชาวโรฮิงจะส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชน หรือเอกสารทางการที่สามารถระบุตัวตนที่ชัดเจนได้ กระบวนการพิสูจน์จึงต้องอาศัยคำให้การของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเป็นหลัก ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าทางการพม่าจะยินยอมมอบสถานะพลเมืองให้แก่ชาวมุสลิมเหล่านั้น โดยอ้างอิงเพียงคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่จริงหรือ?

คุณ Matthew Smith ผอ.องค์กรสิทธิมนุษยชน Fortify Rights ชี้ว่าการมอบสิทธิด้านพลเมืองอย่างเท่าเทียมให้กับชาวมุสลิมโรฮิงจะ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ดังนั้นต่างชาติจึงควรเพิ่มแรงกดดันรัฐบาลพม่าในเรื่องนี้

คุณ Matthew Smith กล่าวว่ากระทรวงคนเข้าเมืองของพม่าจัดทำโครงการนี้บนความเข้าใจที่ว่า ชาวโรฮิงจะทุกคนลักลอบข้ามพรมแดนมาจากบังกลาเทศ ซึ่งการปฏิเสธสถานะความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงจะเหล่านั้น คือสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมโรฮิงจะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ในอดีตาวโรฮิงจะที่ลงทะเบียนกับรัฐบาลพม่าจะได้รับ “บัตรขาว” ซึ่งหมายถึงสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่รวมถึงสิทธิด้านพลเมืองอื่นๆ แต่ไม่นานนี้พรรคการเมืองบางพรรคได้ยื่นคำร้องต่อรัฐสภาให้ระงับการแจกบัตรขาวที่ว่านี้ให้กับชาวโรฮิงจะ สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

คุณ Aye Maung จากพรรค Arakan National Party ในรัฐยะไข่ ซึ่งต่อต้านการแจกบัตรขาว และสนับสนุนโครงการจัดระเบียบคนต่างด้าว กล่าวว่าตนต้องการให้ชาวเบงกาลีทุกคนปฏิบัติตามกฏหมาย ด้วยการร่วมลงทะเบียนและตรวจสอบสถานะพลเมืองให้ถูกต้อง

ตั้งแต่ปี ค.2012 มีชาวโรฮิงจะลี้ภัยความรุนแรงในรัฐยะไข่แล้วหลายแสนคน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยในพม่า และมีบางส่วนที่ลี้ภัยทางเรือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เฉพาะปีนี้คาดว่ามีชาวโรฮิงจะลงเรือหลบหนีออกจากพม่า และมุ่งหน้าไปประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 80,000 คน

รายงานจาก Gabrielle Paluch - ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

XS
SM
MD
LG