ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปี 2024 กับการมีส่วนร่วมเลือกตั้งและเปลี่ยนถ่ายอำนาจทั่วโลก


ภาพกราฟฟิกว่าด้วยการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนทั่วโลกในปี 2024
ภาพกราฟฟิกว่าด้วยการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนทั่วโลกในปี 2024

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติในกว่า 70 ประเทศที่มีความหมายต่อประชากรครึ่งหนึ่งของโลกเรา และในบรรดาประเทศที่ว่านั้น มีกลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ด้วย ได้แก่ อินเดีย สหรัฐฯ อินโดนีเซียและบังกลาเทศ รวมทั้งกรณีการเลือกรัฐสภายุโรปชุดใหม่โดยสมาชิก 27 ประเทศในยุโรปด้วย

ข้อมูลจากองค์กร International Institute for Democracy and Electoral Assistance หรือ International IDEA ระบุว่า จำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีการใช้งานในการเลือกตั้ง 71 รายการและการเลือกรัฐสภายุโรปชุดใหม่นั้นสูงถึงกว่า 1,600 ล้านใบเลยทีเดียว

เมื่อประชาชนในสิทธิเลือกตั้งเพื่อกำจัดสถานภาพที่เป็นอยู่

เราอาจสรุปความในเวลานี้ได้ว่า การเลือกตั้งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในปี 2024 นั้นไม่ได้จบลงด้วยข่าวดีสำหรับผู้ที่อยู่ในอำนาจเลย

นั่นเป็นเพราะพรรคการเมืองทุกพรรคที่เป็นผู้นำรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งในประเทศพัฒนาแล้วในปีที่เพิ่งผ่านไปประสบภาวะเสียงสนับสนุนลดลงทั้งสิ้น ตามข้อมูลในบทความในสื่อ เดอะไฟแนนเชียลไทมส์ ที่อ้างรายละเอียดจากโครงการ ParlGov ที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในยุโรป

ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 120 ปีที่ ParlGov เก็บข้อมูลมาได้

รายงานการวิเคราะห์บนเว็บไซต์ 538 ของโดยสถานีข่าว เอบีซีนิวส์ ระบุด้วยว่า ผลการเลือกตั้งจากทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนแสดงให้เห็นว่า กว่า 80% ของพรรคที่อยู่อำนาจเสียที่นั่งในสภาหรือไม่ก็สูญแรงสนับสนุนจากประชาชนเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ของ 538 พิจารณาประเทศที่ได้ชื่อว่าอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ของประเทศนั้น ๆ อย่างน้อยได้ 5 จาก 10 คะแนน

การศึกษายังพบด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงในฐานอำนาจในปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นทั้งกับรัฐบาลฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเหมือน ๆ กัน

ยกตัวอย่างเช่น พรรคการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมเป็นฝ่ายคว้าชัยในประเทศและแคว้นต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ ที่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กวาดชัยไปในทุกรัฐสมรภูมิในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยหัวกลาง-ขวาในโปรตุเกสเป็นฝ่ายที่ผงาดขึ้นมากุมอำนาจรัฐบาล เช่นเดียวกับกรณีการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่สมาชิกฝ่ายขวาสุดชนะเลือกตั้งมากกว่าเคยจนทำให้สัดส่วนของสมาชิกกลุ่มนี้ปรับขึ้นเป็นถึงเกือบ 1 ใน 4 หลังประกาศผลเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน

ขณะเดียวกัน นักการเมืองฝ่ายซ้ายก็ได้ชัยในประเทศที่มีกระแสต่อต้านพรรคที่อยู่ในอำนาจด้วยเช่นกัน เช่นในกรณีของการเลือกตั้งรัฐสภาอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคมที่พรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นพรรครัฐบาลเสียคะแนนเสียงไปเกือบ 20% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2019 ขณะที่ ฝ่ายค้านหัวเสรีในเกาหลีใต้ที่นำโดยพรรคประชาธิปไตย สามารถก้าวขึ้นมากุมเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายน

และขณะที่ พรรคที่อยู่ในอำนาจในหลายประเทศสามารถยึดเก้าอี้ไว้ได้ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนความเป็นผู้นำเสียงข้างมากก็หดตัวลง เช่น ในอินเดียที่พรรคภารตียา ชนตา (Bharatiya Janata Party - BJP) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เสียสัดส่วนความเป็นเสียงข้างมากในสภาในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังคงเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไปได้เพราะพึ่งเสียงของพรรคพันธมิตรอื่น ๆ โดยสถานการณ์นี้ก็คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แอฟริกาใต้และฝรั่งเศส

แต่กระแสล้มรัฐบาลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตยนัก เพราะผู้อยู่ในอำนาจนั้นสามารถควบคุมการเลือกตั้งไว้เองได้ เช่น ประธานาธิบดีรวันดา พอล คากาเม ที่ชนะการเลือกตั้งแบบฉลุยในเดือนกรกฎาคม โดยกวาดคะแนนเสียงไปถึง 99% คล้าย ๆ กับเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2017 หรือกรณีของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่คว้าชัยในการเลือกตั้งแบบขาดลอยในเดือนมีนาคม แม้ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติจะออกมาให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งรัสเซียนั้นไม่ได้มีเสรีหรือยุติธรรมเลยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประเทศที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยจะไม่เจอกับภาวะต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจเสมอ เพราะที่บังกลาเทศ อดีตนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งมาแบบเฉียดฉิวในเดือนมกราคม ทั้งที่ฝ่ายค้านคว่ำบาตรไม่ร่วมลงสนาม ก่อนจะถูกประชาชนลุกฮือต่อต้านจนขับออกจากตำแหน่ง หลังนั่งเก้าอี้ได้เพียง 7 เดือน

และแม้แต่ที่อิหร่านซึ่งผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ขาดในการตัดสินกิจการทุกเรื่องของประเทศ ประชาชนกลับตัดสินใจเลือกมัสอูด เปเซชกียาน ที่เป็นแคนดิเดทแนวทางสายกลาง มาแทนที่อิบราฮิม ระอีซี ซึ่งเสียชีวิตในเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกไป

ทำไมถึงเกิดกระแสเปลี่ยนแปลงที่ว่า

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประเด็นความไม่พอใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อสภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงเรื่องค่าครองชีพที่ปรับเพิ่ม คือเหตุผลที่ทำให้พรรครัฐบาลในหลายประเทศแพ้เลือกตั้งในปี 2024

มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่พรรครัฐบาลยังคงยึดเก้าอี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เช่น ในการเลือกตั้งของเม็กซิโกที่ อดีตประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ส่งคลอเดีย ไชน์บาม ลงสนามและกวาดชัยชนะขึ้นรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลอย่างง่ายดาย โดยผลสำรวจระบุว่า ประชาชนชาวเม็กซิโกพอใจในสภาพเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การนำของพรรครัฐบาล ทำให้เม็กซิโกเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในปีที่แล้ว ตามการสำรวจของ Pew Research Center ในเดือนมิถุนายน

ประเด็นอื่น ๆ ที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคที่ไม่ใช่รัฐบาลก็คือ เรื่องของการอพยพเข้าเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในบางประเทศและผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจ ตลาดแรงงานและสถานศึกษา

ยิ่งไปกว่านั้น Pew Research Center พบว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ค่อยสนใจประเด็นเรื่องประชาธิปไตยเท่าไหร่แล้ว ทั้งยังเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงระดับความไม่พอใจในรัฐบาลของตนในหลายประเทศที่สูงจนเรื่องนี้ไม่มีความสำคัญอย่างเคย

การสำรวจใน 24 ประเทศประชาธิปไตยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์พบว่า ขณะที่ คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการปกครอง “ที่ดี” ค่ามัธยฐานที่ 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ตนไม่พอใจต่อวิถีประชาธิปไตยในประเทศของตนเอง

ในการตอบแบบสอบถามที่ว่า คนส่วนใหญ่ในเกือบทุกประเทศบอกว่า ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งมาไม่ได้สนใจในสิ่งที่พวกตนคิดนักและ 42% รู้สึกว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เป็นตัวแทนมุมมองของตนเลย

แม้ปี 2025 จะไม่ดูมีความสำคัญในด้านการเลือกตั้งเหมือนในปีที่ผ่านมา ผลการลงคะแนนเสียงของประชาชนในหลายประเทศจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า กระแสต้านรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจนั้นจะดำเนินต่อไปหรือไม่ โดยประเทศที่มีกำหนดจัดการเลือกตั้งในปีนี้มีอาทิ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลารุส แคนาดา ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เป็นต้น

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG