ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
อนามัยโลก ชี้ โรคจากพฤติกรรม ภัยเงียบคร่าชีวิต 41 ล้านคนทั่วโลก

อนามัยโลก ชี้ โรคจากพฤติกรรม ภัยเงียบคร่าชีวิต 41 ล้านคนทั่วโลก


Nurse taking blood pressure
Nurse taking blood pressure

องค์การอนามัยโลก ออกโรงเตือนว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD คร่าชีวิตผู้คนถึง 41 ล้านคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 74% ของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทั้งที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถป้องกันได้

รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (noncommunicable diseases - NCD) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกมากกว่าโรคติดเชื้อไปแล้ว โดยพบว่า แต่ละปี จะมีผู้คนอายุต่ำกว่า 70 ปี ราว 17 ล้านคน ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD

โดยกลุ่มโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมา คือ โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน

เบนเต มิคเคลเซน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้านโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ย้ำว่าการเสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นสามารถป้องกันได้ โดยระบุว่า “ในทุก 2 วินาที จะมีผู้ที่อายุต่ำว่า 70 ปี เสียชีวิตจากโรค NCD” และว่า “หลายคนยังคงไม่รู้ว่า 86% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดขึ้นกับผู้คนในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ทำให้โรค NCD เป็นประเด็นปัญหาทั้งในด้านความเท่าเทียม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก”

องค์การอนามัยโลก ระบุ ปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรค NCD ที่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถป้องกันได้ ที่น่ากังวล คือ ความดันโลหิตสูง ที่พบว่าผู้คน 1,300 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะดังกล่าว แต่หลายคนกลับไม่คิดว่าเป็นภาวะอาการที่อันตรายถึงชีวิต และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและการปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านี้ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายดังกล่าวได้

มิคเคลเซน เสนอว่า “หากผู้คนเข้าถึงบริการสุขภาพที่สามารถตรวจความดันโลหิตและเข้าถึงยารักษาได้ จะช่วยชีวิตผู้คนเกือบ 10 ล้านชีวิตจากภาวะหัวใจวายและภาวะหลอดเลือดสมองได้ ภายในปี 2030” และว่าหากทุกประเทศปรับแผนในการป้องกันโรค NCD จะลดการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกจากโรคนี้ได้อย่างน้อย 39 ล้านคน ภายในปี 2030 ด้วยเช่นกัน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG