ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เทคโนโลยี “หุ่นยนต์สังหาร” อาจเป็นภัยคุกคามชีวิตประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งในอนาคต


เหตุการณ์ความรุนแรงข้ามพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซ่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการทหารแบบไร้คนบังคับมากขึ้น เมื่ออิสราเอลได้นำระบบป้องกันขีปนาวุธแบบอัตโนมัติหรือ Iron Dome มาใช้ในการป้องกันจรวดจากฉนวนกาซ่า ในขณะเดียวกันกองทัพสหรัฐที่ปฏิบัติการอยู่ในอาฟกานิสถานก็ได้นำยานพาหนะและเครื่องบินแบบควบคุมระยะไกลมาใช้ในการทำสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในการลาดตระเวณ ระบุเป้าหมาย หรือโจมตี

เครื่องบินรบแบบควบคุมระยะไกลหรือ Drone นั้นไม่ต้องใช้นักบิน แต่มนุษย์ยังคงทำหน้าที่ในการตัดสินใจเลือกเป้าหมายในการโจมตี แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มหวั่นเกรงว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการทหารลักษณะนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาอาวุธสงครามที่ควบคุมตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ภายในช่วงไม่กี่สิบปีข้างหน้า

คุณ David Mepham ผอ.องค์การ Human Rights Watch ในประเทศอังกฤษกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีแนวโน้มว่ากองทัพประเทศตะวันตกได้พยายามพัฒนาอาวุธที่สามารถควบคุมตัวเองได้โดยอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงการทำงาน

Human Rights Watch ได้จัดทำรายงานร่วมกับ Harvard Law School’s International Rights Clinic ชี้ว่าภายใน 30 ปี กองทัพประเทศต่างๆอาจมีหุ่นยนต์ที่ควบคุมตัวเองได้ และตัดสินใจเลือกเป้าหมายในการโจมตีได้เองเรียกว่า“หุ่นยนต์สังหาร” ซึ่งจะทำให้ชีวิตของประชาชนในเขตที่เกิดความขัดแย้ง ตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

คุณ David Mepham แสดงความกังวลว่าหุ่นยนต์สงครามในอนาคตนั้นอาจจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างคนที่ถืออาวุธกับเด็กที่ถือไอศครีมได้ ซึ่งจะทำให้โลกย้อนไปสู่ยุคการทำสงครามแบบป่าเถื่อนอีกครั้ง

และเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น Human Rights Watch พยายามผลักดันให้มีข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อห้ามพัฒนาอาวุธในลักษณะหุ่นยนต์สังหารแบบเดียวกับข้อตกลงห้ามใช้กับระเบิดและระเบิดลูกปราย แม้ว่ากองทัพสหรัฐและอีกหลายประเทศได้ยืนยันแล้วว่าไม่มีแผนจะใช้อาวุธสงครามดังกล่าวโดยไม่มีมนุษย์คอบควบคุมหรือตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม คุณ Hugo Rosemont นักวิเคราะห์อิสระด้านความมั่นคง เห็นว่าควรมีการหารือบนเวทีโลกในอนาคต เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในด้านการทหาร และในด้านอื่นๆ เช่นการบริหารจัดการภัยพิบัติและการบรรเทาทุกข์

คุณ Hugo Rosemont ชี้ว่าหุ่นยนต์จะมีประโยชน์มากมายในอนาคตหากใช้ในทางที่ถูกต้อง เช่นการนำหุ่นยนต์เข้าไปช่วยในการควบคุมภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าในญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นงานที่เหมาะสมกับหุ่นยนต์มากกว่าการทำสงคราม
XS
SM
MD
LG