อาหารและขนมมากมายที่เราได้เห็นตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวันนี้ อาจไม่ได้สร้างขึ้นจากร้านอาหารสุดหรู หากแต่มาจากความปราดเปรื่องของนักวิทยาศาสตร์การอาหาร ที่ออกแบบเมนูเพื่อกองทัพสหรัฐฯ ครอบคลุมตั้งแต่กาแฟสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ คุ้กกี้ และขนมธัญพืชอัดแท่ง ด้วยโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรอาหารเหล่านี้จะง่ายต่อการขนย้าย จัดเก็บ และรับประทาน
สิ่งประดิษฐ์ด้านอาหารถูกเร่งเครื่องการคิดค้นและพัฒนาอย่างเต็มกำลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์ของกองทัพต้องผลิตคิดค้นอาหารที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางอาหารและมีขนาดเล็กมากพอให้กับทหารที่ต้องร่วมรบในสงคราม
อนาสตาเซีย มาร์กซ เดอ ซัลเซโด เขียนหนังสือชื่อ Combat-Ready Kitchen: How the U.S. Military Shapes the Way You Eat ซึ่งกล่าวถึงที่มาที่ไปของอาหารที่คิดค้นโดยกองทัพสหรัฐฯ ที่ปูทางสู่วิถีการกินของผู้คนในปัจจุบันว่า เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพจำเป็นต้องคิดค้นเทคนิคการแปรรูปอาหารใหม่ๆ และจัดตั้งระบบวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร ที่ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเป็นที่มาของแนวคิดอาหารยังชีพในยุคปัจจุบัน
ผู้เขียนหนังสือ Combat-Ready Kitchen เพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารต่างๆ ที่คิดค้นจากกองทัพก็มีทั้งการแปรรูปอาหารด้วยความดันสูง (high-pressure processing: HPP) เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกจะปลอดภัยในการรับประทาน ซึ่งเทคโนโลยียืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนี้ ปรากฏอยู่ในเมนูอย่างกัวคาโมเล ซัลซา และถั่วบดปรุงรสฮัมมัส
ขนมกรุบกรอบของชอบผู้คนทั่วอเมริกาและทั่วโลกอย่าง “ชีโตส” (Cheetos) เป็นหนึ่งในผลผลิตจากช่วงสงครามเช่นกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีการอบแห้ง (dehydration process) นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารในกองทัพสหรัฐฯ ค้นพบการดึงน้ำออกจากชีส เพื่อไม่ให้ชีสเสีย และมีน้ำหนักเบาลงและง่ายต่อการลำเลียงขนส่งไปต่างแดน
นอกจากอาหารแล้ว นักวิทย์ฯด้านอาหารของกองทัพยังอยู่เบื้องหลังการพัฒนาทางการแพทย์ในสนามรบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze dehydration) เพื่อการขนส่งเลือดไปใช้ในกองทัพด้วย
แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดลง อุตสาหกรรม freeze dehydration กลับมีน้อยมากในยุคนั้น และแทบไม่มีจุดหมายใดๆ หลังบ้านเมืองสงบลง กองทัพสหรัฐฯ จึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้การผลิตในระบบเย็นขึ้นมา ทำให้เกิดยุคทองของชาและกาแฟสำเร็จรูป รวมทั้งซุปผงด้วย
ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ในการผลิตอาหารแห้ง และนั่นคือจุดกำเนิดของธัญพืชอัดแท่ง (energy bar) ก่อนที่กองทัพจะนำเมนูนี้มาต่อยอดให้อร่อยขึ้นและได้รับความนิยมในปัจจุบัน
นักวิทย์ฯของกองทัพสหรัฐฯ ยังปรับใช้แนวคิดของอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ใช้ระบบอบแห้งแบบยังเหลือน้ำไว้ในอาหารอยู่ เพื่อให้ยังคงรสชาติและความชุ่มชื้นของอาหารเอาไว้ และแนวคิดดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารอบสำเร็จรูป อย่าง คุ้กกี้กล่องที่ขายตามห้างร้านปัจจุบัน
อีกเมนูหนึ่ง คือ ช็อคโกแลตที่ไม่ละลายง่ายๆ ซึ่งจริงๆ แล้วกองทัพสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นเริ่มต้น แต่นำมาปรับปรุงจนกลายเป็นที่นิยม จากที่ทหารอเมริกันไปพบแนวคิดการเคลือบน้ำตาลลงบนช็อคโกแลตนี้เข้าเมื่อครั้งไปเยือนยุโรป ซึ่งช่วยให้ทหารสามารถนำช็อคโกแลตติดตัวไปด้วยโดยไม่ละลายไปเสียก่อน และนั่นคือจุดกำเนิดของขนมยอดฮิต M&M กับสโลแกนละลายในปาก แต่ไม่ละลายในมือ
จนถึงทุกวันนี้ทีมวิจัยของกองทัพยังคงค้นหาวิธีที่จะทำให้ช็อคโกแลตไม่ละลาย แม้อยู่ในอุณหภูมิร้อนจัด
อีกขั้นหนึ่งของวิทยาศาสตร์การอาหารของกองทัพ ที่เพิ่งเปิดตัวสดๆร้อนๆ คือ อาหารขนาดเล็ก (mini-food) ซึ่งเป็นอาหารที่ลดขนาดลงราว 1 ใน 3 ของขนาดปกติ ด้วยการใช้เทคโนโลยีอบแห้งด้วยระบบไมโครเวฟ เพื่อดูดความชื้นออกจากอาหาร ทำให้อาหารลดขนาดลงไปได้ แต่ยังคงคุณค่าทางอาหารอยู่ครบถ้วน
ซึ่งแม้ว่าแนวคิดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าทหารมากแค่ไหน แต่ยังไม่อาจรู้ได้ว่าวันหนึ่งคนทั่วไปจะยอมรับเมนูมื้อเที่ยงของตัวเองที่มีขนาดลดลงกว่าปกติได้หรือไม่?