การติดต่อสื่อสารระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ได้หยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากที่เปียงยางสั่งตัดโทรศัพท์สายด่วนด้านการทหารและรื้อถอนที่ตั้งของหน่วยประสานงานตรงจุดพรมแดนในพื้นที่ของตน
นอกจากนั้น เปียงยางยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากกรุงโซลระหว่างการระบาดใหญ่และไม่นำพาต่อเสียงเรียกร้องจากเกาหลีใต้ให้สืบสวนเรื่องการยิงสังหารเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในความควบคุมของทหารเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกันยายนด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฤดูหนาวกำลังแผ่ปกคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น เวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่นกอพยพกว่า 50 ล้านตัวเริ่มโยกย้ายถิ่นฐานข้ามทวีประยะไกลจากขั้วโลกเหนือผ่านทะเลเหลืองและคาบสมุทรเกาหลีไปยังบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้และมหาสมุทรอินเดียที่อบอุ่นกว่า และนกอพยพต่าง ๆ รวมกว่า 200 พันธุ์นี้มีบางส่วนที่แวะพักกลางทางในบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะและหนองน้ำของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การอพยพประจำฤดูกาลของนกบางพันธุ์อาจจะเปิดช่องทางให้สองประเทศนี้กลับมาหารือกันได้อีกโดยอาศัยประเด็นที่มีความเป็นการเมืองน้อยที่สุด
คุณดั๊ก วัตกิน ซีอีโอของหน่วยงานอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อ East Asian-Australasian Flyway Partnership Secretariat ในเมืองอินชอนของเกาหลีใต้ บอกว่า ถึงแม้จะมีปัญหาท้าทายหลายอย่างในการรักษาและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทั้งสองประเทศมีอยู่ร่วมกัน คือเรื่องนกอพยพ ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ
ส่วนคุณคริสโตเฟอร์ แมคคาธี นักวิจัยของสถาบัน Institute for Far Eastern Studies ในกรุงโซล ก็บอกว่า ถึงแม้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องการเมือง แต่เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นประเด็นซึ่งเป็นการเมืองน้อยที่สุดสำหรับเกาหลีเหนือ
ตอนนี้มีนักการเมืองท้องถิ่นบางคนของเกาหลีใต้ อย่างเช่น คุณฮีโอ ซก นายกเทศมนตรีเมืองซันเชือน ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่นกเหล่านี้แวะพักกลางทางระหว่างการบินข้ามทวีป ได้เสนอว่าโครงการแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้นั้นมักจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม แต่เนื่องจากความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขณะนี้กำลังตึงเครียด เขาคิดว่าน่าจะมีโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
คุณซกกล่าวด้วยว่า ความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีอาจจะเริ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการแบ่งปันความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่และหนองน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่พักชั่วคราวของนกอพยพ และหวังว่าความร่วมมือที่ว่านี้อาจจะขยายเป็นแผนงานระดับภูมิภาคเพื่อติดตามการอพยพของนกกระเรียนได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีจะฟื้นคืนมาอีกครั้งได้ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตาม และกระทรวงรวมประเทศของเกาหลีใต้ก็กล่าวว่ายังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการเรื่องความร่วมมือกับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ข้อจำกัดเรื่องการเดินทางเพื่อติดตามเก็บข้อมูลของนกอพยพในเส้นทางที่บินเคลื่อนย้ายถิ่นก็ทำได้ยากและสร้างปัญหาที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติม
ถึงกระนั้นก็ตาม คุณเบอร์นาท เซลิงเกอร์ ตัวแทนของมูลนิธิอนุรักษ์ธรรมชาติ German Hanns Seidel ในกรุงโซล ก็หวังว่าเมื่อโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เวลาสำหรับการหารือระหว่างสองเกาหลีคงจะสามารถกลับมาได้อีกครั้ง