ชีวิตคนนั้นถ้าเปรียบไปแล้วก็คงเหมือนละครหรือการแสดงที่มีจุดเริ่มต้น และท้องเรื่องบางตอนอาจจะมีดรามาเข้มข้นชวนตื่นเต้นน่าสนใจ แถมยังมีบทโศกเศร้าเคล้าน้ำตาคละกันไปก่อนจะถึงบทจบตอนสุดท้ายด้วย แต่ในแง่ของการเดินเรื่องในชีวิตแล้ว บางครั้งอาจมีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนข้างหนักหน่วงซึ่งบางคนอาจจะเรียกกันว่า midlife crisis นั่นเอง
Elliot Jaques นักจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ผู้ตั้งคำนี้เมื่อปี 2508 อธิบายว่า midlife crisis หรือวิกฤตกลางชีวิตนั้น อาจจะมาจากการที่คนเราเริ่มตระหนักเกี่ยวกับความไม่เป็นอมตะหรือความตายจากสิ่งที่เราเริ่มประสบพบเห็นรอบ ๆ ตัว ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามเพื่อค้นพบตัวเองมากขึ้น และทำให้เราเรียนรู้ว่ายังขาดอะไรอยู่
ส่วนคำอธิบายของ midlife crisis อีกด้านหนึ่งนั้น ก็หมายถึงการที่คนเราเริ่มพบกับความไม่พอใจ ความกดดัน และความไม่สมหวังกับชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะจากหน้าที่การงานซึ่งเริ่มอิ่มตัวหรือมีปัญหา สุขภาพที่เริ่มทรุดโทรม ครอบครัวซึ่งเริ่มมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง รวมทั้งจากการที่ลูกเต้าเริ่มเติบโตและโบยบินออกจากรัง
หรือการเป็น”แซนด์วิชเจนเนอเรชั่น” ซึ่งหมายถึงการต้องแบกรับภาระดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า พร้อมกับดูแลบุตรหลานที่ยังไม่เติบโตเต็มที่นั่นเอง
ผลการศึกษาก่อนหน้านี้หลายชิ้นชี้ว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่า midlife crisis นี้มีจริง คือเกือบ 50% ของผู้ใหญ่วัยกว่า 50 ปี บอกว่าตนเคยประสบวิกฤตชีวิตดังกล่าวมาแล้วในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ตัวเลขด้านหนึ่งดูเหมือนจะสนับสนุนข้ออ้างที่ว่านี้ เพราะการสำรวจในออสเตรเลียระบุว่าคนส่วนใหญ่จะมีความพึงพอใจกับชีวิตน้อยที่สุดเมื่ออายุ 45 ปี และสำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลียก็ให้ตัวเลขว่าคนกลุ่มอายุ 45 - 54 ปีดูจะมีทัศนคติในทางลบต่อชีวิตมากที่สุด
แต่คำถามก็คือว่า "วิกฤตวัยกลางคน" ที่ว่านี้มีจริงหรือไม่ หรือขึ้นกับวิธีคิดและการมองของเรา เพราะนักจิตวิทยาอย่างอาจารย์ Nick Haslam แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เป็นคนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าวิกฤตชีวิตกลางคนที่ว่านี้ไม่มีจริง โดยเขาบอกว่า ในช่วงอายุกลางคนนั้นเราอาจจะประสบปัญหาในบางเรื่องแต่ก็คงไม่ถึงขั้นวิกฤตอย่างแท้จริง
และนักจิตวิทยาในกลุ่มนี้บอกว่า ปัญหามากขึ้นที่แสดงออกมาในช่วงวัยกลางคนนั้นเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมาก่อนหน้าในช่วงวัยหนุ่มสาว แต่เราเริ่มมองมันอย่างตกผลึกรอบด้าน และพร้อมที่จะแก้ปัญหาเมื่ออายุมากขึ้น
ผลการวิจัยอีกด้านหนึ่งยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็นวิกฤตชีวิตช่วงกลางคนนั้นแท้จริงแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาหย่าร้าง การตกงาน หรือสุขภาพที่ไม่ดี รวมทั้งการเริ่มตระหนักถึงความตายที่ใกล้เข้ามาอย่างที่เข้าใจกัน แต่มาจากปัญหาความซึมเศร้ามากกว่า และการวิจัยโดยทั่วไปก็ไม่สามารถเชื่อมโยงปัญหาที่รุมเร้ากับสิ่งที่เราเรียกว่าวิกฤตชีวิตช่วงกลางคนนี้ได้เช่นกัน
ผลการศึกษาในอเมริกาซึ่งติดตามชีวิตผู้คนเป็นเวลานานให้ข้อมูลว่า คนในช่วงวัย 41 ถึง 50 ปี พบว่าตนมีความนิ่งในอารมณ์มากขึ้น ตระหนักในตัวเองมากขึ้น และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวเข้ากับปัญหาต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย
ส่วนผลการวิจัยอีกชิ้นซึ่งทำกับสตรีวัย 43 ถึง 52 ปี ก็พบว่าผู้หญิงในช่วงวัยนี้แทนที่จะมี midlife crisis กลับพบว่าตนมีความเป็นอิสระ มีความมั่นใจ พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น รวมทั้งตัดสินใจได้ดีขึ้นด้วย
โดยสรุปแล้วก็คือ ผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่าคนเราในช่วงอายุกลางคนแทนที่จะมี midlife crisis อย่างที่เข้าใจ กลับมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น และมองปัญหาได้รอบด้านและมองโลกในแง่บวกมากกว่าเดิม
แนวคิดและมุมมองใหม่เกี่ยวกับ midlife crisis ที่ว่านี้ อาจสะท้อนสิ่งที่ Victor Hugo นักเขียนมีชื่อชาวฝรั่งเศสได้เคยกล่าวไว้ว่า ในโลกยุคนี้ 40 ปีอาจนับเป็นอายุมากของคนวัยหนุ่มสาว แต่ 50 ปีจัดได้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของช่วงอายุที่มากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น midlife crisis จะมีจริงหรือไม่นั้น? ก็คงขึ้นอยู่กับวิธีคิดและการใช้ชีวิตเป็นสำคัญ