บริษัท ไมโครซอฟต์ เดินหน้าเจรจาขอซื้อธุรกิจแอพพลิเคชั่น TikTok ในส่วนที่ใช้งานในสหรัฐฯ จากบริษัท ByteDance ของจีน ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เผยความตั้งใจที่จะสั่งระงับการใช้งานแอพยอดนิยมนี้ในประเทศ
รายงานของสำนักข่าว Associated Press เปิดเผยว่า ไมโครซอฟต์ สามารถเดินหน้าการเจรจาดังกล่าวไปพอสมควร ซึ่งข้อสรุปของการซื้อกิจการนี้จะถือเป็นชัยชนะของทั้งสองบริษัท ที่ทำให้ไมโครซอฟต์ยืนหยัดการเป็นผู้นำในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่ ByteDance และ TikTok จะไม่ต้องห่วงเรื่องการตกเป็นเป้าโจมตีของปธน.ทรัมป์อีกต่อไป
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ตนต้องการจากสั่งการระงับการใช้งานของ TikTok ให้ได้ภายในวันเสาร์ ด้วยการใช้อำนาจของกฎหมายฉุกเฉินหรือคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อกระทำการดังกล่าว
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจาก สำนักข่าวบลูมเบิร์ก นิวส์ และ เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะทำการตัดสินใจสั่งให้ ByteDance ขายธุรกิจ TikTok ในเร็วๆ นี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รวมทั้งบริษัทการเงินหลายแห่งของสหรัฐฯ แสดงความสนใจที่จะซื้อหรือลงทุนในแอพยอดนิยมนี้ โดยหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ และสถานีข่าว ฟ๊อกซ์ บิสซิเนส อ้างแหล่งข่าวที่ไม่ระบุที่มาในรายงานข่าวว่า ไมโครซอฟต์ เริ่มการเจรจาซื้อกิจการไปแล้ว
ทั้งนี้ ไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นเจ้าของเว็บสื่อสังคมออนไลน์ด้านอาชีพและตำแหน่งงาน LinkedIn ด้วย เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจโฆษณาแบบดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ในสหรัฐฯ โดย 3 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนี้คือ กูเกิล เฟซบุ๊ก และแอมะซอน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา TikTok ได้ออกแถลงการณ์ว่า ไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวลือและการคาดเดาต่างๆ และขอแสดงความมั่นใจในโอกาสแห่งความสำเร็จในระยะยาวของตน ก่อนที่ วาเนสซา พัพพัส ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท จะอัพโหลดวิดีโอคลิปในวันเสาร์ เพื่อยืนยันว่า TikTok ไม่มีแผนที่จะหายไปจากสหรัฐฯ แต่อย่างใด
TikTok กลายมาเป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ หลัง ByteDance เปิดตัวแอพนี้ในสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2017 แล้วซื้อกิจการ Musical.ly ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ และยุโรป ก่อนจะรวมเอาทั้งสองเข้าด้วยกัน และกลายมาเป็นพื้นที่แบ่งปันวิดีโอสนุกๆ ที่ทำไม่ยาก และติดกระแสอย่างมาก จนบริษัทสามารถอ้างได้ว่า มีผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนในสหรัฐฯ และหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ซึ่งทำให้ เฟสบุ๊ก และ สแนปแชต บอกว่าแอพนี้กลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม การที่จีนเป็นเจ้าของแอพนี้ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการเซนเซอร์ข้อมูล โดยเฉพาะส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน และการที่ทางการจีนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ แม้ว่า TikTok จะยืนยันว่าไม่มีการเซนเซอร์ข้อมูลเกี่ยวกับจีนและจะไม่ยอมส่งมอบข้อมูลใดๆ ให้กับรัฐบาลกรุงปักกิ่งเป็นอันขาดก็ตาม