เมื่อ 3 ปีก่อน สหรัฐฯ ประกาศห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารไมโครบีดส์ อณูพลาสติกขนาดเล็กที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนสามารถหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงที่อณูพลาสติกเหล่านี้จะตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำ ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของผู้คนทั่วโลกในท้ายที่สุด
แต่ล่าสุด มีมลภาวะอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า "ไมโครไฟเบอร์" ซึ่งเป็นเส้นใยขนาดเล็กจิ๋วที่อยู่ในเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ทุกวัน ซึ่งหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำได้ง่ายผ่านการซักเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้จุดประเด็นของไมโครไฟเบอร์ต่อแหล่งน้ำทั่วโลก ว่าอณูเส้นใยเหล่านี้เริ่มส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำ รวมทั้งกระทบต่อชีวิตมนุษย์มากน้อยแค่ไหน
หนึ่งในการศึกษาของ มาร์ค บราวน์ ผู้ที่ศึกษาเรื่องภาวะเป็นพิษในระบบนิเวศ (Ecotoxicology) ชาวออสเตรเลีย เมื่อปี 2553 พบว่า ขยะตามแนวชายฝั่งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นั้น กว่าร้อยละ 85 มาจากไมโครไฟเบอร์ทั้งสิ้น
ขณะที่ข้อมูลจากวารสาร Environmental Science & Technology พบว่า ทุกครั้งที่เราซักเสื้อคลุมที่ทำจากใยสังเคราะห์ 1 ตัว จะมีเส้นใยไมโครไฟเบอร์มากกว่า 1 กรัม หลุดออกมา และราวร้อยละ 40 ของเส้นไมโครไฟเบอร์ที่หลุดออกมาระหว่างการซักผ้าจะหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เชลซี รอคแมน อาจารย์ด้านนิเวศน์วิทยา จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต บอกว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามลภาวะทางน้ำที่เกิดขึ้นจากอณูไฟเบอร์ มาจากตัวเส้นใยเองหรือมาจากสีที่ใช้ย้อมกันแน่
แต่ในระหว่างนี้ ก็มีบริษัทสตาร์ทอัพอย่างน้อย 4 แห่ง พัฒนานวัตกรรมดักจับไมโครไฟเบอร์จากเสื้อผ้าไม่ให้หลุดไปยังแหล่งน้ำได้
Guppyfriend ผลิตถุงซักผ้าดักจับไมโครไฟเบอร์ ที่ลดปริมาณไมโครไฟเบอร์ที่จะหลุดออกจากเสื้อผ้าได้ราวร้อยละ 75-86
ส่วน Cora Ball ซึ่งเป็นลูกบอลขนาดเล็กที่กลิ้งไปมาระหว่างการซักผ้า ที่มีกิ่งก้านมากมายคอยดักจับใยผ้าสังเคราะห์เหล่านี้ไม่ให้ไหลลงไปกับน้ำได้มากขึ้นถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับการซักผ้าโดยไม่ใช้อุปกรณ์นี้
อเล็กซานเดอร์ โนลเต้ ผู้ก่อตั้ง Guppyfriend บอกว่า การให้ผู้บริโภคร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะกล่าวโทษแต่ภาครัฐหรือบริษัทที่ผลิตสารก่อมลพิษเพียงฝ่ายเดียว อาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญ คือการปลูกฝังจิตสำนึกของผู้บริโภค ให้หลีกเลี่ยงหรือใช้สิ่งของเหล่านี้ให้น้อยลงดีกว่า
ข้อมูลจากสำนักสำมะโนประชากร ชี้ว่า กว่าร้อยละ 85 ของครัวเรือนในสหรัฐฯ มีเครื่องซักผ้า และอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภค แต่พบว่าเฉพาะถุงซักผ้าของ Guppyfriend กลายเป็นอุปกรณ์ติดบ้านชาวอเมริกันอย่างน้อย 50,000 ครัวเรือนแล้ว ด้วยความหวังว่าจะช่วยสกัดกั้นอณูไมโครไฟเบอร์ไม่ให้ไปสร้างมลภาวะในแหล่งน้ำ กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำ และกลับมาสู่มนุษย์ในที่สุด