ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ไมโครดราม่า’ สะเทือนอุตสาหกรรมหนังจีน มุ่งเป้าเขย่าวงการฮอลลีวู้ด


ซู เจี้ยน วัย 69 ปี ถ่ายทำซีรีส์ใน เจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ของจีน เมื่อ 16 ก.ค. 2024 (REUTERS/Tingshu Wang)
ซู เจี้ยน วัย 69 ปี ถ่ายทำซีรีส์ใน เจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ของจีน เมื่อ 16 ก.ค. 2024 (REUTERS/Tingshu Wang)

จีนบุกเบิก ‘ไมโครดราม่า’ ซีรีส์สั้น 1 นาทีที่ครองใจคนดูในแดนมังกร และกำลังเตรียมเข้ามาบุกตลาดในสหรัฐฯ ตามรายงานของรอยเตอร์

ซู เจี้ยน นักแสดงวัย 69 ปี แสดงบทบาทของพ่อในตระกูลมั่งคั่งในงานเลี้ยงหรูหรา ที่ไม่เคยรู้ว่าคนรับใช้ที่บ้านนั้น แท้จริงแล้วคือหลานสาวแท้ ๆ ของเขาเอง ในซีรีส์จีน Grandma's Moon

แม้จะดูเป็นเหมือนพล็อตเรื่องอันแสนจะคุ้นเคย แต่ที่หักมุมกว่านั้น คือ รูปแบบการนำเสนอใหม่ ที่เรียกว่า ไมโครดราม่า กำลังกลายเป็นที่นิยมสำหรับผู้ชมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไมโครดราม่า เป็นละครหรือซีรีส์สั้น ๆ ความยาวตอนละ 1 นาที ถ่ายทำแบบแนวตั้งสำหรับการรับชมทางสมาร์ทโฟน โดยมีลูกเล่นคือพล็อตเรื่องที่พลิกไปมาให้คนดูนับล้านคนลุ้นกันหน้าจอ จนถึงกับต้องจ่ายเงินเพื่อชมตอนต่อไป

ซู กล่าวถึงเทรนด์ไมโครดราม่ากับรอยเตอร์ว่า “ผู้คนไม่ไปโรงภาพยนตร์กันอีกแล้ว” และว่ากลุ่มผู้ชมของเขาคือแรงงานวัยกลางคนและคนวัยเกษียณ “มันสะดวกในการถือโทรศัพท์และดูบางอย่างที่ต้องการได้ทุกเวลา”

อุตสาหกรรมซีรีส์ไมโครดราม่าไม่ได้เล็กเหมือนชื่อ เพราะเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตเฟื่องฟู คิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี อ้างอิงจากนักวิเคราะห์ด้านสื่อและบุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงแดนมังกรที่ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ โดยผู้เล่นรายใหญ่ของไมโครดราม่าของจีน คือ บริษัท China Film Group ของรัฐบาลจีน

นอกจากรูปแบบที่แตกต่างแล้ว ต้นทุนการผลิตก็ไม่สูงเท่ากับการผลิตภาพยนตร์แบบดั้งเดิม โดยต้นทุนการผลิตไมโครดราม่าอยู่ที่ราว 28,000-280,000 ดอลลาร์ อ้างอิงจากบริษัทวิจัยตลาด iResearch

โจว อี้ จากบริษัท NetEase บอกว่า “แต่เดิมเราใช้เวลา 2-3 ปีในการผลิตซีรีส์โทรทัศน์ แต่ตอนนี้เราใช้เวลา 3 เดือนผลิตไมโครดราม่า ทำให้ประหยัดเวลาไปมาก”

ซู นักแสดงในเรื่อง Grandma’s Moon บอกว่า ค่าตัวนักแสดงก็ปรับเพิ่มตามความนิยม เพราะบทนำจะได้ค่าตัววันละ 280 ดอลลาร์ แต่ตัวประกอบจะได้ค่าตัวเริ่มต้น 17 ดอลลาร์ต่อวัน

ตอนนี้กระแสซีรีส์ไมโครดราม่า มาไกลถึงอเมริกาแล้ว ซึ่งถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งมาไกลยังชาติตะวันตก นอกเหนือจากแพนด้ายักษ์ขนฟู

โดยข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านแอปพลิเคชัน Appfigures ชี้ว่า แอปพลิเคชันไมโครดราม่ารายใหญ่ของจีน 3 แห่ง มียอดดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Google Play มากถึง 30 ล้านครั้ง ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทำรายได้คิดเป็นมูลค่า 71 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก

ขณะที่ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านสื่อ Endata เผยว่าแอปฯ ยอดนิยมที่สุดของซีรีส์ไมโครดราม่า คือ ไคว่โช (Kuaishou) มีไมโครดราม่า 50 เรื่องที่มียอดชมสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว

เฉิน อี้อี้ รองประธานบริษัท ไคว่โช กล่าวเมื่อเดือนมกราคมว่า แอปฯ ที่มีซีรีส์สั้น ๆ 68 เรื่องนี้ มียอดผู้ชมมากว่า 300 ล้านครั้งเมื่อปีก่อน และมี 4 เรื่องที่มียอดชมหลักพันล้านครั้ง อีกทั้งยังพบว่ามีผู้ชม 94 ล้านราย ชมไมโครดราม่ามากกว่า 10 ตอนต่อวันผ่านแอปฯ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวได้

แอชลีย์ ดูแดร์น็อค ผู้ก่อตั้งบริษัท Appfigures ที่มีสำนักงานในฮ่องกง บอกกับรอยเตอร์ว่า “ผู้ชมมีความสนใจไม่มากนัก ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า ยิ่งพวกเขาใช้เวลากับวิดีโอสั้นมากเท่าไร จะใช้เวลากับหน้าจอโทรทัศน์หรือโชว์รูปแบบยาว ๆ น้อยลงเท่านั้น”

แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์โต่วอิน (Douyin) ซึ่งคล้ายกับติ๊กตอกในจีน เสี่ยวหงชู (XiaoHongShu) ที่คล้ายกับอินสตาแกรมของจีน และบิลิบิลิ (Bilibili) ที่คล้ายกับยูทูบของจีน วางแผนขยายการผลิตซีรีส์รูปแบบนี้อยู่

ในตลาดสหรัฐฯ แพลตฟอร์มไมโครดราม่าในชื่อ ReelShort ซึ่งบริษัทแม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่าง Tencent และ Baidu แซงหน้า Netflix ในแง่ยอดดาวน์โหลดผ่าน App Store อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัย Sensor Tower

เลย์ลา เกา โปรดิวเซอร์จีนในนครลอสแอนเจลิส กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “จีนค้นพบฐานลูกค้านี้ก่อน .. ฮอลลีวู้ดยังไม่รู้จักสิ่งนี้มากนัก แต่บริษัทจีนเริ่มนำเสนอเนื้อหารูปแบบนี้ไปแล้ว”

พล็อตเรื่องยอดนิยมสำหรับไมโครดราม่า ซึ่งรวมถึงเรื่อง Grandma's Moon มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแก้แค้น ชิงรักหักสวาท และชีวิตเยี่ยงซินเดอเรลลา ซึ่งโดนใจคนดูแดนมังกรในช่วงเวลาที่การยกระดับฐานะของคนในประเทศทำได้ยากเย็น และอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่จีนพุ่งสูง

คามิลล์ ราโอ นักเขียนบทซีรีส์ไมโครดราม่า วัย 26 ปี ที่ลาออกจากงานโปรดิวเซอร์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ดั้งเดิม และมารับงานเขียนบทภาษาอังกฤษในตลาดสหรัฐฯ บอกกับรอยเตอร์ว่า ไมโครดราม่า “แสดงให้คนเห็นว่าวันหนึ่งเราอยู่ในชนชั้นล่างและอีกวันเรากลายเป็นชนชั้นสูงได้ – เรารวยเสียจนทำให้คนที่เคยกลั่นแกล้งเราอับอายได้”

ซู ถิง อาจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีจีนจาก Jiangnan University บอกกับรอยเตอร์ว่า “การยกระดับทางสังคมเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน หลายคนมองสิ่งนี้ว่าเป็นโลกแห่งความจริง .. ทุกคนปรารถนาจะมีอำนาจและความร่ำรวย จึงเป็นเรื่องปกติที่เรื่องราวแนวนี้จะได้รับความนิยม”

สำหรับการตีตลาดสหรัฐฯ อาจตรงกันข้าม เพราะเรื่องราวแฟนตาซีแนวหมาป่าและแวมไพร์ได้รับความนิยมสูงกว่าพล็อตแนวดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไมโครดราม่า กลับถูกตรวจตราใกล้ชิดจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยช่วงปลายปี 2022 ถึงต้นปี 2023 ทางการจีนสั่งตรวจสอบและถอดเนื้อหาไมโครซีรีส์ 25,300 เรื่อง คิดเป็น 1.4 ล้านตอน เนื่องจากเนื้อหาลามกอนาจาร นองเลือด รุนแรง ไม่ค่อยมีสาระ และหยาบคาย

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG