มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ที่เพิ่งปิดฉากไป ไม่ได้เป็นเพียงเวทีสำหรับบรรดานักกีฬาชั้นยอดจากหลายร้อยประเทศเพื่อประลองฝีมือชิงชัยระหว่างกันอีกต่อไป แต่ยังกลายมาเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนทั่วโลกได้เริ่มรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตที่เหล่านักกีฬาต้องฝ่าฟันด้วย
ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) เป็นหญิงสาวชาวอเมริกันผู้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นยอดนักยิมนาสติกตลอดกาล นอกจากนี้เธอยังเป็นหน้าเป็นตาของสหรัฐฯ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงโตเกียวปี 2020 โดยก่อนหน้านี้คาดกันว่าเธอจะสามารถคว้าชัยชนะได้ถึงห้าเหรียญทอง
แต่หลังจากพิธีเปิดการแข่งขันเพียงไม่กี่วัน เธอได้ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันประเภททีม หลังจากประสบปัญหาในการลงพื้นในรอบแรกของการแข่งขันประเภทม้าขวาง ต่อมาเธอได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่าจิตใจของเธอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้ไม่สามารถทำท่ายากๆ ได้อย่างปลอดภัย หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ จิตใจของเธอไม่ปล่อยให้ร่างกายทำในสิ่งที่ต้องการได้
เมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฏาคมซึ่งเธอประกาศถอนตัว กล้องสามารถจับภาพตอนที่เธอบอกกับโคชระหว่างการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศประเภททีมว่า “เธอไม่เชื่อใจตัวเอง”
ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจที่จะปกป้องสุขภาพจิตของตัวเอง และเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมมีโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อนร่วมทีมทั้งสามคนของ Biles ได้อันดับสองรองจากนักยิมนาสติกที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ไบลส์ ไม่ใช่นักกีฬาโอลิมปิกเพียงคนเดียวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่พูดถึงความกดดันและผลกระทบทางจิตใจของการแข่งขันในระดับสูงสุดนี้
นักเทนนิสชาวญี่ปุ่น นาโอมิ โอซากา (Naomi Osaka( ตัดสินใจไม่ลงแข่ง French Open เมื่อต้นฤดูร้อนนี้ การตัดสินใจของเธอเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้จัดการแข่งขัน French Open วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของเธอที่ไม่พูดกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเธอบอกว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นการปกป้องสภาพจิตใจของเธอเอง
และในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ โอซากา แพ้การแข่งเทนนิสรอบที่สอง ซึ่งเธอบอกว่าเธอรู้สึกกดดันอย่างมากที่จะต้องคว้าชัยชนะให้กับประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
นักกีฬาโอลิมปิกหลายๆ คนได้พูดคุยถึงความเครียดจากการเกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการแข่งขันไปอย่างมาก
ลิซ แคมเบจ (Liz Cambage) นักบาสเกตบอลระดับแนวหน้าของออสเตรเลีย ได้ถอนตัวออกจากทีมหนึ่งสัปดาห์ก่อนเริ่มการแข่งขัน เพราะกังวลว่าจะต้องเข้าสู่ “bubble” หรือการต้องแยกตัวมาอยู่โดยลำพังในกรุงโตเกียวโดยไม่ได้รับแรงใจจากเพื่อนๆ และครอบครัว
ซิโมน ไบลส์ ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2016 ที่ประเทศบราซิลกล่าวว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ต่างจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อนอย่างมาก ในครั้งนี้ทีมยิมนาสติกอเมริกันไม่ได้พักอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก แต่ต้องพักที่โรงแรมซึ่งอยู่ห่างจากนักกีฬาคนอื่นๆ นอกจากนี้ยังไม่มีอะไรให้ทำเลยในแต่ละวัน นอกเสียจากคิดแต่เรื่องยิมนาสติก
ในสัปดาห์ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนั้น ไบลส์ ได้โพสต์ข้อความในบัญชีอินสตาแกรม ว่าเธอรู้สึกเหมือนว่ากำลังแบกโลกทั้งใบเอาไว้บนบ่าของตัวเอง และเมื่อวันพุธสัปดาห์เดียวกันเธอประกาศว่าจะถอนตัวจากการแข่งขันรอบถัดไป ซึ่งเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวเพื่อมุ่งให้ความสนใจกับปัญหาสุขภาพจิตของเธอเอง
โฆษกของ IOC หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากลกล่าวว่า IOC กำลังให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของนักกีฬามากขึ้น และว่ามีเว็บไซต์และหมายเลขโทรศัพท์ที่นักกีฬาสามารถโทรหาได้หากต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
นาโอโกะ อิโมโตะ (Naoko Imoto) นักว่ายน้ำชาวญี่ปุ่นที่เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1996 ซึ่งได้ร่วมงานกับคณะกรรมการโอลิมปิกกรุงโตเกียวกล่าวว่าการที่ นาโอมิ โอซากา พูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของเธอเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาที่นักกีฬาต้องเผชิญ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น
และว่าแม้ในญี่ปุ่นจะยังไม่มีการพูดถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิต เพราะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างเพียงพอ แต่เธอก็คิดว่ามีนักกีฬาจำนวนมากที่กำลังยอมรับเรื่องนี้และพยายามจะบอกว่าปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในหมู่นักกีฬานั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปและคนส่วนใหญ่ก็มักไม่ทราบกัน