ศัลยแพทย์ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตาของมนุษย์ทั้งดวงเป็นครั้งแรกของโลกหลังจากที่ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้าไปแล้ว เรื่องดังกล่าวนับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ แม้จะยังไม่ทราบว่าชายผู้นี้จะสามารถกลับมามองเห็นด้วยดวงตาข้างซ้ายที่ได้รับการปลูกถ่ายนี้ได้อีกครั้งหรือไม่
ในระหว่างการทำงาน อุบัติเหตุจากสายไฟฟ้าแรงสูงได้ทำลายใบหน้าและดวงตาข้างหนึ่งของแอรอน เจมส์ ไปเกือบหมด ในขณะที่ตาขวาของเขายังคงทำงานอยู่ แต่ศัลยแพทย์ที่ NYU Langone Health หวังว่าการปลูกถ่ายดวงตาดวงใหม่แทนดวงตาด้านซ้ายที่หายไปจะช่วยให้การศัลยกรรมใบหน้าใหม่ของเขาดูดีขึ้น เพราะดวงตาใหม่นี้จะช่วยรองรับเบ้าตาและเปลือกตาที่ได้รับการปลูกถ่ายไปแล้ว
ทีมแพทย์ที่ NYU ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า เจมส์กำลังฟื้นตัวได้ดีจากการปลูกถ่ายสองครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และดวงตาที่ได้รับบริจาคมาก็มีคุณภาพดีอย่างน่าทึ่งอีกด้วย
แอรอน เจมส์ ชายวัย 46 ปีจากเมืองฮอทสปริงส์ รัฐอาร์คันซอ บอกกับเอพีหลังจากที่แพทย์ได้ทำการตรวจเช็คดวงตาของเขาว่า เขารู้สึกดีแม้จะยังไม่สามารถขยับดวงตาหรือกระพริบตาได้ แต่ก็สามารถรับความรู้สึกได้บ้างแล้ว และเขาหวังว่าแพทย์จะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการผ่าตัดครั้งนี้ไปช่วยผู้ป่วยคนต่อ ๆ ไปได้
ทุกวันนี้ การปลูกถ่ายกระจกตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่อใสที่อยู่ด้านหน้าดวงตา เป็นเรื่องปกติในการรักษาการสูญเสียการมองเห็นบางประเภท แต่การปลูกถ่ายดวงตาทั้งดวง เช่น ลูกตา หลอดเลือดหล่อเลี้ยงดวงตา และเส้นประสาทที่ต้องเชื่อมต่อกับสมอง ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับแพทย์ที่จะรักษาอาการตาบอด
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต การผ่าตัดของเจมส์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นถึงการที่ดวงตาของมนุษย์พยายามจะรักษาตัวเองในแบบไม่เคยมีมาก่อน
นายแพทย์เอดูอาร์โด รอดริเกซ หัวหน้าแผนกศัลยกรรมตกแต่งของ NYU ซึ่งเป็นผู้นำการผ่าตัดครั้งนี้กล่าวว่า “เราไม่ได้บอกว่าจะสามารถฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วยได้ แต่เราก็เข้าใกล้ไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว”
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเกรงว่า ดวงตาที่ปลูกถ่ายไปแล้วจะเหี่ยวย่นลงอย่างรวดเร็วเหมือนกับลูกเกด แต่เมื่อนายแพทย์รอดริเกซเปิดดูเปลือกตาซ้ายของเจมส์เมื่อเดือนที่แล้ว ดวงตาสีน้ำตาลแดงที่ได้รับบริจาคกลับดูอวบอิ่มและเต็มไปด้วยของเหลวเหมือนกับดวงตาสีฟ้าของเขาเอง และแพทย์ก็เห็นว่าเลือดในดวงตาข้างที่ได้รับปลูกถ่ายนั้นไหลเวียนดีและไม่มีสัญญาณของการไม่ยอมรับการรักษาเลย
นายแพทย์ เจฟฟรีย์ โกลด์เบิร์ก (Dr. Jeffrey Goldberg) หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งศึกษาในเรื่องการผ่าตัดปลูกถ่ายดวงตามาเป็นเวลานานแล้ว เรียกการผ่าตัดครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แต่อุปสรรคของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าจะทำให้เส้นประสาทตางอกขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร แม้ว่าการศึกษาในสัตว์ทดลองมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว
เขายกย่องทีมแพทย์ NYU ใน "ความกล้าหาญ" ที่ตั้งเป้าหมายในการซ่อมแซมเส้นประสาทตา และหวังว่าการปลูกถ่ายนี้จะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยในเรื่องนี้มากขึ้น
การศัลยกรรมปลูกถ่ายใบหน้ายังเป็นกรณีที่พบไม่มากนัก และยังมีความเสี่ยงอีกด้วย โดยเจมส์เป็นรายที่ 19 ในสหรัฐฯ และเป็นรายที่ 5 ที่นายแพทย์รอดริเกซเป็นผู้ทำการผ่าตัดให้ และการทดลองเกี่ยวกับดวงตาก็ทำให้มีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก
แต่เจมส์คิดว่า คงไม่มีอะไรที่จะแย่ไปกว่าการที่ดวงตาได้รับบริจาคมาไม่สามารถใช้งานได้ โดยแพทย์จะติดตามดูพัฒนาการของดวงตาที่ได้รับการปลูกถ่ายใหม่นี้เป็นวัน ๆ ไป
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น