สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการลงโทษบริษัทถุงมือยางมาเลเซียรายใหญ่แห่งหนึ่งที่บังคับใช้แรงงาน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากมาเลเซียยังไม่เร่งแก้ไขบัญหาการบังคับใช้แรงงานต่างด้าว การห้ามนำเข้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานเตือนว่า มาเลเซียยังคงเสี่ยงต่อการถูกมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก หลังจากอเมริกาห้ามนำเข้าสินค้าจากบริษัทผลิตถุงมือยางรายหนึ่งที่ถูกพบว่ามีการบังคับใช้แรงงาน
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา บริษัทถุงมือยางของมาเลเซียที่ชื่อ WRP Asia Pacific ไม่สามารถส่งสินค้าของตนมาขายในสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าบังคับใช้แรงงาน
สำหรับผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่รับของมาจาก WRP แล้ว จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานในการผลิตสินค้าดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะต้องส่งสินค้าออกไปขายในประเทศอื่น
เบรนดา สมิธ (Brenda Smith) ผู้ช่วยผู้บังคับการฝ่ายบริหาร ของสำนักงานศุลกากร Customs and Border Protection’s Office of Trade ของสหรัฐฯ กล่าวว่า สัญญาณที่รัฐบาลอเมริกันส่งออกไปในเรื่องนี้ชัดเจนมาก
เธอกล่าวว่า “ถ้าประเทศใดเป็นคู่ค้าสหรัฐฯ แต่ไม่ทำตามคำมั่นที่จะกำจัดการบังคับใช้แรงงาน สหรัฐฯ จะทำทุกอย่างเพื่อที่จะปกป้องแรงงานจากการถูกเอาเปรียบ คุ้มครองตำแหน่งงานของคนอเมริกัน และสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม”
ขณะเดียวกัน แอนดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า ในประเทศมาเลเซียมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลาย และนอกจากบริษัท WRP ที่ถูกลงโทษทางการค้าแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทชาติเดียวกันที่กำลังถูกตรวจสอบ
ปัจจุบันมาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นผู้ป้อนความต้องการมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ตามสถิติของสมาคมผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของมาเลเซีย (Malaysian Rubber Export Promotion Council)
นอกจากนี้สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซีย (MARGMA) กล่าวว่า ร้อยละ 65 ของถุงมือยางที่ผลิตโดยบริษัทสมาชิก ถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ
WRP Asia Pacific ซึ่งถูกห้ามขายสินค้าในอเมริกาเป็นบริษัทรายใหญ่ของมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้ว WRP มีรายได้ 79 ล้าน 5 แสนดอลลาร์จากการส่งออกถุงมือยางมายังสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการภาคผลิตรายอื่นๆ บริษัทถุงมือยางในมาเลเซียใช้แรงงานจากประเทศเพื่อบ้านที่ยอมทำงานด้วยค่าแรงต่ำกว่าคนในประเทศ
รัฐบาลมาเลเซียเคยกล่าวว่า มีแรงงานต่างด้าวในประเทศ 1 ล้าน 7 แสนคน แต่องค์การแรงงานสากลหรือ International Labor Organization (ILO) ระบุว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่อยู่ในมาเลเซีย
แอนดี้ ฮอลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ปรับปรุงตัวดีขึ้นเรื่องการใช้แรงงานต่างชาติ โดยคืนหนังสือเดินทางของคนงานที่เคยยึดไว้ และทำตามข้อกำหนดเรื่องการจ้างงานในกะพิเศษ หรือ overtime
อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์ผู้นี้กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ยังแทบไม่มีการแก้ไขคือการบังคับให้ลูกจ้างทำงานตามเงื่อนไขการปลดหนี้ คนงานที่เดินทางมาจากบังคลาเทศผ่านนายหน้า จ่ายเงินเพื่อให้ได้มาทำงานในมาเลเซีย บางรายยอมเป็นหนี้ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินมากถึง 5,000 ดอลล่าร์ เหล่านี้ต้องทำงานเพื่อชดใช้หนี้ก้อนดังกล่าว บางครั้งคนงาน ที่ถูกกดดันมากๆ ถึงกับฆ่าตัวตาย
และเมื่อสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษต่อบริษัทที่บังคับใช้แรงงาน สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียรายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของมาเลเซียได้เสนอเพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมายเพื่อปกป้องแรงงาน และให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตถุงมือในการตรวจสอบภายในเพื่อให้การประกอบกิจการเป็นไปตามมาตรฐานสากล