ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักอนุรักษ์เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนสองแห่งของรัฐบาลมาเลเซียเพื่อปกป้องผืนป่าและที่อยู่ของสัตว์หายากบนเกาะบอร์เนียว


นักอนุรักษ์เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนสองแห่งของรัฐบาลมาเลเซียเพื่อปกป้องผืนป่าและที่อยู่ของสัตว์หายากบนเกาะบอร์เนียว
นักอนุรักษ์เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนสองแห่งของรัฐบาลมาเลเซียเพื่อปกป้องผืนป่าและที่อยู่ของสัตว์หายากบนเกาะบอร์เนียว

เกาะบอร์เนียวถือเป็นบ้านของสัตว์หายากและพืชหายากที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแต่นักอนุรักษ์ที่นั่นกำลังตื่นตัวเพื่อเตรียมเผชิญกับแผนการการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ 2 แห่งของรัฐบาลกลางมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียวที่เตรียมก่อสร้างบนพื้นที่ระหว่างพรมแดน 3 ประเทศคือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน

กระแสต่อต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ และชาวบ้านในพื้นที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากรัฐบาลมาเลเซียอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง ที่หุบเขาไคดวน (Kaiduan) ใกล้กับเมืองโคตา เบอรุด (Kota Belud) ในรัฐซาบาห์ (Sabah) และเขื่อนอีกแห่งกั้นแม่น้ำตูโตห์ (Tutoh) บริเวณเขตติดต่อรัฐซาราวัค (Sarawak) บนเกาะบอร์เนียว

แม้รัฐบาลมาเลเซียจะออกมาชี้แจงเหตุผลของการสร้างเขื่อนว่าเพื่อเป็นการรับประกันปริมาณการใช้น้ำและพลังงานไฟฟ้าในแถบมาเลเซียตะวันออกให้เพียงพอในอนาคต แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้กลับเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

เอส เอ็ม มูตูห์ (S.M.Muthu) โฆษกของสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งมาเลเซีย (Malaysia Nature Society) บอกว่า รัฐบาลควรหันมาพัฒนาพลังงงานทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและก๊าซชีวภาพ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ในรัฐซาบาห์ และซาราวัค มากกว่าการสร้างเขื่อน มูตูห์ บอกด้วยว่าผลทดสอบของวิศวกรเกี่ยวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในมาเลเซียตะวันออกยืนยันว่าที่นี่ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเมื่อมีแหล่งน้ำ และอัตราการไหลของแม่น้ำที่มากพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว

โฆษกของสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งมาเลเซีย บอกว่า ประเด็นสำคัญคือการทำลายแหล่งน้ำจนทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ก่อนที่จะใช้วิธีแก้ปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการสร้างเขื่อน แต่ถ้ามองถึงต้อตอของปัญหาจริงแล้วๆจะพบว่าทุกอย่างอยู่ที่การรักษาแหล่งน้ำเท่านั้น

ชาวหมู่บ้านไคดวนรวมตัวกันปิดพื้นที่เพื่อไม่ให้มีก่อสร้างและทำงานใดๆเกี่ยวกับเขื่อน นอกจากนี้ยังวางไม้กางเขนที่สูงเกือบ 2 เมตรในพื้นที่ที่สร้างเขื่อนเพื่อประท้วง

ขณะเดียวกันนักเคลื่อนไหวในรัฐซาราวัค บนเกาะบอร์เนียว เตือนว่า การสร้างเขื่อนพลังน้ำบนแม่น้ำตูโตห์จะส่งผลการเปลี่ยนแปลงร้ายแรงต่ออุทยานแห่งชาติ และอาจจะถูกถอดถอนสถานะการเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก

ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลกลางมาเลเซียตัดสินใจที่จะขายโครงการสร้างเขื่อนบากุน (Bakun)ที่มีอยู่แล้วในรัฐซาราวัคให้กับรัฐบาลท้องถิ่น แม้ว่าเขื่อนแห่งนี้กำลังสร้างปัญหาที่กระทบสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการก่อสร้างก็ตาม

เกาะบอร์เนียว ถือเป็นบ้านของสัตว์พันธุ์หายากจำนวนมาก รวมไปถึงอุรังอุตัง ช้างปิ๊กมี่ และแรดบอร์เนียว แต่ก็ถูกคุกคามจากการพัฒนา การตัดไม้ทำลายป่า และการขยายตัวของสวนปาล์มน้ำมัน

การเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อมบนเกาะบอร์เนียวของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาช่วยจำกัดพื้นที่ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน บนพื้นที่อนุรักษ์ที่มีแนวยาวติดชายฝั่งทะเลเพราะมีความกังวลว่าโรงงานเหล่านี้อาจส่งผลต่อสามเหลี่ยมปะการังทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว

ซินเธียร์ อ่อง (Cynthia Ong) ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรด้านการอนุรักษ์ LEAP (Land Empowerment Animals People) และผู้สนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นหัวใจของกลุ่มองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อท้าทายการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลมาเลเซีย บนเกาะบอร์เนียว บอกว่า การคัดค้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซินเธียร์ บอกว่าพวกเธอต้องรวมตัวกันฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จในการรณรงค์และสามารถมีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น

การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในซาบาห์เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นและแพร่หลายในกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองรวมไปถึงกลุ่มกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่รัฐของมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และกลุ่มที่กำลังจับตามองด้านการพัฒนาก็เริ่มรับรู้มากขึ้น

ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรด้านการอนุรักษ์ LEAP ยืนยันว่าพวกเขาจะยังคงทำงานในพื้นที่เพื่อบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะบอร์เนียว และพร้อมจะเป็นหัวหอกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้รัฐบาลมาเลเซียยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีความจำเป็น ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการหลักประกันในความต้องการน้ำเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่จะรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตภายใต้เป้าหมายของการเป็นประเทศอุตสาหกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่เป้าหมายทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากของกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เพราะความหลากหลายทางชีวภาพขอองเกาะบอร์เนียวและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ต่างๆก็ต้องได้รับการปกป้องด้วยเช่นกัน

XS
SM
MD
LG