ในการทดลองนี้ ทีมนักวิจัยให้เด็กๆ ในประเทศกาน่าสวมถุงเท้าเป็นเวลานานหนึ่งคืน โดยเด็กบางคนเป็นมาลาเรียและเด็กบางคนไม่เป็นมาลาเรีย และหลังจากนั้น ทีมนักวิจัยนำถุงเท้าที่เด็กๆ สวมแล้วนี้ไปให้สุนัขที่ได้รับการฝึกดมเพื่อระบุว่าถุงเท้าคู่ไหนมีกลิ่นของเชื้อปรสิตมาลาเรีย
สตีฟ ลินด์ซี่ แห่งมหาวิทยาลัยเดอร์เเรมกล่าวว่ามีหลักฐานเพิ่มขึ้นที่ชี้ว่าคนที่ติดเชื้อมาลาเรียมีกลิ่นตัวพิเศษอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนกับคนอื่น พวกเขามีกลิ่นกายที่แตกต่างไปจากคนอื่นและที่สำคัญกว่านั้น ยุงยังชอบดูดเลือดคนที่มีเชื้อมาลาเรียเหล่านี้อีกด้วย เขาบอกว่าหากยุงทำได้ สุนัขก็น่าสามารถดมกลิ่นได้ว่าใครติดเชื้อมาลาเรีย
สุนัขหลายตัวได้รับการฝึกโดยหน่วยงาน Medical Detection ให้สามารถระบุได้ว่าใครติดเชื้อมาลาเรียได้ถูกต้องถึง 70 เปอร์เซ็น เเละลินด์ซี่ กล่าวว่าความสามารถของสุนัขในการดมหากลิ่นหาเชื้อมาลาเรียได้นี้อาจนำไปสู่หนทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งการระบาดของมาลาเรียได้
ลินด์ซี่ นักวิจัยกล่าวว่าทีมเจ้าหน้าที่สุขภาพอาจใช้สุนัขที่ได้รับการฝึกไปดมหาคนติดเชื้อมาลาเรียในหมู่บ้าน แทนที่ต้องตรวจเลือดของชาวบ้านทุกคนและการระบุได้ว่าใครติดเชื้อบ้างจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อลง
เขากล่าวว่าสุนัขทำงานด้านการดมกลิ่นหาโรคและสินค้าลอกเลียนแบบอยู่เเล้ว แต่อาจจะสามารถใช้ความสามารถในการดมกลิ่นในการตรวจหาโรคอื่นๆ ได้ด้วย
ลินด์ซี่ นักวิจัยกล่าวว่าคนฝึกสุนัขที่เขาทำงานด้วยได้ฝึกฝนสุนัขให้ดมกลิ่นหาโรคมะเร็ง โรคพาร์คินสันส์เเละสุนัขสามารถเตือนคนป่วยเบาหวานได้ว่ากำลังเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ผู้สื่อข่าววีโอเอกล่าวปิดท้ายรายงานว่าทีมงานของ Medical Detection ยังกำลังร่วมมือกับสถาบัน MIT อีกด้วยเพื่อพัฒนาจมูกอัจฉริยะหรือ E-nose เเต่เขากล่าวว่ามาถึงขณะนี้ จมูกของสุนัขมีความสามารถในการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังอาจไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ในขณะนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)