ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาวิธีคุมกำเนิดยุงตัวผู้


ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยลกำลังพัฒนาวิธีคุมกำเนิดยุงตัวผู้เพื่อควบคุมการระบาดของไข้มาลาเรียที่เป็นต้นเหตุให้คนป่วยปีละหลายล้านคนทั่วโลกและเสียชีวิตปีละหกแสนกว่าคน

เป็นที่รู้กันดีว่า ยุงตัวเมียเป็นพาหะของเชื้อมาลาเรียที่แพร่เชื้อแก่คน แต่ศาสตราจารย์ริชาร์ด แบ็คซตั้น ผู้เชี่ยวชาญวิชาเคมีชาวอเมริกันกับทีมงานที่มหาวิยาลัยเยลได้ค้นหาวิธีควบคุมการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียด้วยการศึกษาการเจริญพันธุ์ของยุงตัวผู้และได้นำเสนอความคืบหน้าของการค้นหานี้ในการประชุมของ American Chemical Society ที่ฟิลลาเดลเฟียเมื่อไม่นานมานี้

ศาสตราจารย์แบ็คซตั้นกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมงานค้นพบโปรตีนสองชนิดที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญพันธุ์ของยุงที่เป็นพาหะของไข้มาลาเรีย โปรตีนทั้งสองชนิดมีหน้าที่ในการช่วยสร้างจุกเหนียวบนตัวสเปริ์มที่ของยุงตัวผู้หลังผสมพันธุ์กับยุงตัวเมีย เพื่อช่วยให้การปฏิสนธิประสบความสำเร็จ

หากนักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจขั้นตอนการเจริญพันธุ์ของยุงได้ดีมากขึ้นพวกเขาจะ สามารถค้นหาองค์ประกอบของสารเคมีที่ช่วยหยุดยั้งยุงตัวผู้ไม่ให้สร้างจุกเหนียวบนตัวสเปริ์ม เป็นการสกัดกั้นการปฏิสนธิ

ศาสตราจารย์แบ็คซตั้นกล่าวว่านี่เป็นวิธีควบคุมประชากรแมลงที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง เป็นการเพาะเลี้ยงยุงตัวผู้ที่เป็นหมันจำนวนมากแล้วปล่อยออกไปในธรรมชาติเพื่อผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่เป็นพาหะไข้มาลาเรีย เป็นวิธีลดประชากรยุงอย่างจงใจ

เทคนิคการทำให้แมลงเป็นหมันนี้เป็นวิธีที่นำไปใช้อย่างได้ผลเพื่อควบคุมประชากรแมลงวันดูดเลือดเซทซี (tsetse) ที่เป็นพาหะของโรคง่วงหลับในทวีปอาฟริกา กับควบคุมแมลงวันตัวเบียน (screwworm fly) ในสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นต้นเหตุของความเสียหายหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐในอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์

ในขณะที่การเสียชีวิตจากไข้มาลาเรียได้ลดลงเนื่องจากการใช้ฉีดยาฆ่าแมลงภายในบ้านและใช้มุ้งที่มีการเคลือบยาฆ่าแมลง แต่ยุงได้ปรับตัวและต่อต้านยาฆ่าแมลงและเปลี่ยนไปกัดคนภายนอกบ้านในตอนกลางวัน

ศาสตราจารย์แบ็คซตั้นกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมงานหวังว่าจะสามารถทดสอบประสิทธิภาพของเทคนิคการทำให้ยุงตัวผู้เป็นหมันในอนาคตอันใกล้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแนวคิดคือหากเราสามารถลดประชากรยุงที่เป็นพาหะของมาลาเรียลงได้ ก็จะสามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ ในที่สุดหากสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้หลายฤดูติดต่อกัน ก็จะสามารถกำจัดตัวเชื้อมาลาเรียได้หมดโดยไม่จำเป็นต้องฆ่ายุง

ในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ ศาสตราจารย์แบ็คซตั้นจะทำการทดสอบสารเคมีหลายตัวเพื่อดูว่าตัวไหนมีฤทธิ์ไปสกัดกั้นการทำงานของโปรตีนการเจริญพันธุ์ในตัวยุง เพื่อไม่ให้มีการปฏิสนธิ

ศาสตราจารย์แบ็คซตั้นกล่าวว่าหากขั้ันตอนนี้สำเร็จและสามารถทำให้ยุงในห้องทดลองเป็นหมันได้ ทีมงานจะเดินหน้าทดลองในสภาพแบบกึ่งภาคสนาม เป็นการทดลองกับยุงที่เลี้ยงในกรงขนาดใหญ่ ภายนอกตัวอาคาร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีที่คิดค้นในสภาพที่เหมือนจริงมากที่สุด
XS
SM
MD
LG