ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยชี้ว่าการกำจัดลูกยุงที่เรียกว่า LSM (Larval source management) น่าจะใช้เป็นวิธีควบคุมมาลาเรียแบบเสริมที่มีประสิทธิภาพ


การกำจัดลูกยุงก่อนที่จะโตเต็มวัยกลายเป็นพาหะของมาลาเรียเป็นวิธีที่ช่วยเสริมมาตรการควบคุมมาลาเรียที่มีศักยภาพและจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้มาลาเรียรายใหม่ๆได้ปีละหลายพันรายหากนำไปใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่

ในปัจจุบัน มาตรการป้องกันมาลาเรียหลักๆที่ใช้กันอยู่มักได้แก่การนอนกางมุ้งเคลือบสารฆ่าแมลงที่มีอายุการใช้งานนานและการฉีดพ่นยาฆ่ายุงภายในตัวอาคารบ้านเรือน แต่ยุงได้พัฒนาการต่อต้านต่อยาฆ่ายุงต่างๆที่ใช้กันอยู่ นั่นเป็นเหตุผลให้ทีมนักวิจัยทำการทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการแหล่งลูกอ่อนของยุงหรือ LSM จากเอริเทีย เคนยา แกมเบีย มาลี แทนซาเนีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกาและกรีซ

คุณลูซี่ ทัสติ้ง นักระบาดวิทยาแห่งวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) เป็นหัวหน้าทีมวิจัยการศึกษาการวิเคราะห์ที่เรียกว่า The Cochrane review

คุณทัสติ้งกล่าวกับผู้สื่ิอข่าววีโอเอว่าการวิจัยนี้สำคัญเพราะหลายประเทศในอาฟริกาทางใต้ทะเลทรายซาฮาร่าและประเทศอื่นๆที่มีการระบาดของมาลาเรียใช้วิธีควบคุมมาลาเรียด้วยการจัดการกับแหล่งลูกอ่อนของยุง แต่ยังขาดแคลนข้อมูลยืนยันประสิทธิภาพของวิธีควบคุมมาเลเรียแบบนี้และยังขาดข้อมูลว่าวิธีนี้เหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบใด และจนถึงขณะนี้ มีการศึกษาหลายชิ้นที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อประเมินวิธีการควบคุมมาลาเรียวิธีนี้อย่างละเอียด

ในภาพรวม การกำจัดลูกยุงก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ยุงโตจนกลายเป็นพานะนำโรคน่าจะเป็นวิธีเสริมที่ดีในมาตรการควบคุมมาลาเรียใดใด แต่คุณทัสติ้งกล่าวว่ายังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่

คุณทัสติ้งหัวหน้าทีมวิจัยในลอนดอนกล่าวว่าเรามีวิธีควบคุมมาลาเรียที่ได้ผลดีมากอยู่แล้วหลายวิธี ทั้งการนอนกางมุ้งเคลือบยากันยุงและการพ่นยาฆ่ายุงภายในอาคารบ้านเรือนล้วนได้ผลดีมาก โดยใช้กันกว้างขวางในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วทวีปอาฟริกาและส่วนอื่นๆของโลก และช่วยให้การควบคุมมาลาเรียได้ผลดีอย่างไม่ต้องสงสัยตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และนี่ทำให้มีความจำเป็นน้อยมากที่ต้องดิ้นรนหาวิธีทางเลือกอื่นๆมาใช้ควบคุมมาลาเรีย

คุณทัสติ้งกล่าวว่าการควบคุมมาลาเรียด้วยการจัดการแหล่งตัวอ่อนยุง เป็นการกำจัดลูกยุงก่อนโตเต็มวัยกลายเป็นพาหะของโรค เป็นวิธีที่ได้ผลในการมุ่งเป้ากำจัดลูกยุงในแหล่งน้ำขัง ในขณะเดียวกันการใช้มุงเคลือบยากันยุงกับการฉีดพ่นยาฆ่ายุงเป็นวิธีที่มุ่งเป้าที่ยุงโตเต็มวัยแล้ว คุณทัสติ้งกล่าวว่าการควบคุมลูกยุงน่าจะใช้เป็นวิธีเสริมแก่มาตรการควบคุมมาลาเรียวิธีอื่นๆ แต่ไม่ควรใช้ทดแทนกัน เธอกล่าวว่าการควบคุมลูกยุงน่าจะเป็นวิธีควบคุมมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพเหมาะกับสภาพเเวดล้อมในเขตเมือง

คุณทัสติ้งยกตัวอย่างว่าการทำลายแหล่งน้ำขังที่เป็นที่อยู่ของลูกยุงเป็นการถาวรด้วยการสูบน้ำทิ้งหรือถมดินหรือขุดลอกระบบท่อน้ำทิ้งเพื่อทำลายที่อยู่ของลูกยุง เป็นการตัดวงจรชีวิตของยุง นอกจากนี้การควบคุมลูกยุงยังสามารถทำได้ด้วยการเติมยาฆ่าลูกยุงลงไปแหล่งน้ำขัง

คุณทัสติ้งชี้การศึกษาเรื่องนี้หลายชิ้นพบว่าค่าใช่จ่ายในการกำจัดลูกยุงน่าจะพอๆกับค่าใช้จ่ายในการป้องกันยุงด้วยการใช้มุ้งเคลือบยากันยุงและใช้ยาฆ่ายุงพ่นภายในตัวอาคารบ้านเรือน โครงการรณรงค์ปราบปรามมาลาเรีย Roll Back Malaria รายงานว่าค่าใช้จ่ายในการต่อต้านมาลาเรียทั่วโลกอยู่ที่ราว 5 ถึง 6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี
XS
SM
MD
LG