ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปูติน-มาคร็อง ร่วมหารือวิกฤติยูเครน ขณะที่ไบเดนเปิดทำเนียบขาวรับนายกฯ เยอรมนี 


French President Emmanuel Macron (R) meets with Russian President Vladimir Putin (L) in Moscow on Feb. 7, 2022, for talks in an effort to find common ground on Ukraine and NATO.
French President Emmanuel Macron (R) meets with Russian President Vladimir Putin (L) in Moscow on Feb. 7, 2022, for talks in an effort to find common ground on Ukraine and NATO.

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ร่วมหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ที่กรุงมอสโก ในวันจันทร์ เพื่อหาทางออกเรื่องวิกฤติการณ์บริเวณพรมแดนรัสเซียกับยูเครน

ในช่วงเริ่มต้นของการประชุม ประธานาธิบดีมาคร็องกล่าวกับประธานาธิบดีปูตินว่า การหารือครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นในทิศทางที่เราควรเดินไป คือการลดระดับความตึงเครียด หลีกเลี่ยงสงคราม และสร้างสภาพการณ์ที่นำไปสู่ความเชื่อมัน เสถียรภาพและความชัดเจนสำหรับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ก่อนการหารือจะเริ่มขึ้น โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวว่า “สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นน้ันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะคาดหมายว่าจะเกิดความคืบหน้าสำคัญใด ๆ จากการประชุมเพียงครั้งเดียว” และว่า ยังไม่มีอะไรใหม่จากทางชาติตะวันตกเกี่ยวกับการรับประกันความมั่นคงปลอดภัยของรัสเซีย

รัสเซียได้ส่งกำลังทหารมากกว่า 100,000 คนไปประจำการอยู่บริเวณชายแดนติดกับยูเครน โดยประเทศตะวันตกเกรงว่า ปธน.ปูติน อาจส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครน “ได้ตลอดเวลา"

ทั้งสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และพันธมิตรองค์การนาโต้ ต่างปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการให้องค์การนาโต้ปฏิเสธการยอมรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก

หลังการหารือกับปธน.รัสเซียในวันจันทร์ ปธน.มาคร็องจะเดินทางต่อไปยังกรุงเคียฟ เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ในวันอังคาร

President Joe Biden, right, gestures during a meeting with German Chancellor Olaf Scholz in the Oval Office of the White House, in Washington, Feb. 7, 2022.
President Joe Biden, right, gestures during a meeting with German Chancellor Olaf Scholz in the Oval Office of the White House, in Washington, Feb. 7, 2022.

ไบเดนเปิดทำเนียบขาวรับนายกฯ เยอรมนี

ในขณะเดียวกัน ที่กรุงวอชิงตัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พบปะกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ ที่ทำเนียบขาว ซึ่งถือเป็นการเจรจาแบบพบหน้ากันครั้งแรกของผู้นำทั้งสองคน นับตั้งแต่โชลซ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม

ประเด็นสำคัญของการเจรจาครั้งนี้คือการหาทางออกเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนและองค์การนาโต้ หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังทหาร 3,000 คนไปยังยุโรปตะวันออก และส่งความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ไปให้แก่รัฐบาลยูเครนด้วย

อย่างไรก็ตาม เยอรมนีซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การนาโต้ ปฏิเสธการส่งอาวุธไปให้แก่ยูเครนด้วยเหตุผลว่าขัดกับนโยบายของเยอรมนีที่จะไม่ส่งอาวุธเข้าไปในพื้นที่ที่กำลังเกิดความขัดแย้ง

ระหว่างการหารือ ปธน.ไบเดน กล่าวเน้นย้ำความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของสองประเทศ และยืนยันว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อป้องปรามความก้าวร้าวของรัสเซียในยุโรป

ทางด้านนายกฯ โชลซ์ กล่าวว่า สหรัฐฯ และเยอรมนีคือพันธมิตรใกล้ชิดที่จะทำงานร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งการยืนหยัดต่อต้านรัสเซียในความขัดแย้งกับยูเครนด้วย

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ และเยอรมนี หารือเรื่องความช่วยเหลือด้านพลังงานให้แก่เยอรมนีซึ่งที่ผ่านมาต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลักด้วย โดยทางสหรัฐฯ ประกาศไว้ว่า หากรัสเซียบุกรุกยูเครน สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้รัสเซียใช้ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่พาดผ่านทะเลบอลติกไปยังเยอรมนี และนั่นอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณพลังงานในยุโรปตะวันตกเช่นกัน

แผนบุกยูเครนของรัสเซีย ‘อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ’

การเจรจาระหว่างผู้นำ 4 ประเทศ ทั้งที่กรุงมอสโกและที่กรุงวอชิงตัน มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในรายการ “Meet the Press” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี (NBC) ในวันอาทิตย์ตามเวลาในสหรัฐฯ ว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า รัสเซียได้ส่งสรรพกำลังต่าง ๆ เข้าประจำพื้นที่เพื่อเตรียมดำเนินปฏิบัติการทางทหารเข้าไปในยูเครนแล้ว และได้เตรียมตัวเต็มที่เพื่อทำการตอบโต้ด้วยเช่นกัน

และเมื่อเข้าร่วมรายการ “Fox News Sunday” ในวันเดียวกัน ซัลลิแวน ให้สัมภาษณ์ว่า “รัสเซียอาจตัดสินใจบุกยูเครนเมื่อใดก็ได้ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า หรือในช่วง 2-3 สัปดาห์จากนี้ก็เป็นได้” โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ประเมินไว้ว่า กรุงมอสโกน่าจะเตรียมกำลังพลราว 70% ของกองกำลังจู่โจมราวของตนไว้พร้อมสำหรับการเดินหน้าโจมตีแล้ว

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวยังกล่าวด้วยว่า “ไม่ว่ารัสเซียจะเดินหน้าทำการใดๆ อเมริกาก็พร้อมรับเสมอ” พร้อมระบุว่า อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังยินดีที่จะทำการเจรจากับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียเกี่ยวกับประเด็นความกังวลด้านความมั่นคงในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับแผนงานของสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้ทั้ง 29 ประเทศอยู่ต่อไป

แต่ ซัลลิเวน ย้ำว่า สิ่งที่ไม่อาจจะนำมาเจรจาได้ก็คือ หลักการขั้นพื้นฐานด้านความมั่นคงซึ่งรวมถึง การเปิดให้ประเทศที่มีคุณสมบัติตามต้องการเข้าร่วมกับองค์การนาโต้ได้ โดยประเด็นนี้เป็นเหมือนการปฏิเสธข้อเรียกร้องของปธน.ปูติน ที่ต้องการให้นาโต้ไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกโดยเด็ดขาด

พันธมิตรชาติตะวันตกทั้งหลายยืนยันว่า ไม่มีประเทศนอกกลุ่มนาโต้ใดๆ ที่มีอำนาจยังยั้งการตัดสินใจว่า ประเทศใดจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือได้

  • ข้อมูลบางส่วนจากเอพีและรอยเตอร์
XS
SM
MD
LG