ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มรสุมการเมือง ‘มาคร็อง’ ในนาทีที่โลกจับจ้องฝรั่งเศส


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาคร็อง ในกรุงปารีส (ที่มา:แฟ้มภาพ/รอยเตอร์)
ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาคร็อง ในกรุงปารีส (ที่มา:แฟ้มภาพ/รอยเตอร์)

สำนักข่าวรอยเตอร์เปรียบเปรยบรรยากาศการเมืองฝรั่งเศสหลังนายกรัฐมนตรีถูกสภาโค่นด้วยมติไม่ไว้วางใจว่า มหาวิหารนอเทรอดามฟื้นจากอัคคีภัย แต่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาคร็อง กำลังยืนอยู่บนกองเถ้าถ่าน

การซ่อมแซมนอเทรอดามเริ่มขึ้นในปี 2019 ภายใต้คำเย้ยหยันว่าไม่สามารถเสร็จสิ้นภายในเวลาห้าปีตามที่มาคร็องประกาศ แต่ท้ายที่สุดก็เป็นไปตามคำมั่นสัญญา

ในการแถลงออกอากาศในวันพฤหัสบดี ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวว่าการเปิดตัวมหาวิหารอีกครั้ง คือ “สิ่งพิสูจน์ว่าพวกเราทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ได้ เราทำในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” และกล่าวด้วยว่า “เราต้องทำในสิ่งเดียวกันนี้เพื่อชาติ”

มหาวิหารชื่อดังมีกำหนดการเปิดตัวในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ โดยผู้นำฝรั่งเศสจะต้อนรับผู้นำมากกว่า 35 ชาติ รวมถึงว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่มาร่วมงานด้วย

แต่ในงานเดียวกันนี้ มาคร็องจะต้องอยู่ร่วมกับสมาชิกรัฐบาลฝรั่งเศส ที่เพิ่งกลายสภาพเป็นรัฐบาลชั่วคราวที่เพิ่งถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายซ้ายและขวาจัดจับมือกันโหวตลงมติไม่ไว้วางใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

มรสุมการเมืองนี้สร้างสุญญากาศในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติที่ถือครองนิวเคลียร์รายเดียวในสหภาพยุโรป ในช่วงที่รัสเซียรุกยูเครนหนักขึ้นและยุโรปพยายามมีบทบาทในโลกมากขึ้นในบริบทการเผชิญหน้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

จอร์จินา วไรท์ นักวิเคราะห์จากสถาบันคลังความคิด Institut Montaigne มองว่าเสถียรภาพทางการเมืองในฝรั่งเศส ส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของรัฐบาลกรุงปารีสในยุโรป ที่หลายชาติกังวลเรื่องการส่งอาวุธให้ยูเครนจากฝรั่งเศสซึ่งต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงนาม

ในแง่การเมืองในประเทศ มาคร็องกล่าวหาสมาชิกสภาฝ่ายขวาจัดที่นำโดยผู้นำฝ่ายค้าน มารีน เลอ แป็ง ว่าการเปิดมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้ฝรั่งเศสไม่มีงบประมาณใช้ในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนมองว่ารัฐบาลที่นำโดยนายกฯ มิเชล บาร์นิเยร์ และคณะรัฐมนตรี ถูกโค่นล้มเพราะการตัดสินใจของประธานาธิบดี ที่ประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ด้วยมุ่งหมายจะสร้างความได้เปรียบ แต่สุดกลายเป็นเขาต้องสูญเสียเสียงข้างมากในสภา และมอบโอกาสในการกำหนดทิศทางการเมืองให้ผู้นำฝ่ายค้านอย่างมารีน เลอ แป็ง

มติไม่ไว้วางใจไม่เพียงทำให้มาคร็องไม่มีกลไกรัฐบาล แต่ยังไปจำกัดอำนาจของเขาในการหารือทางการทูตกับชาติอื่น ๆ ด้วย

แหล่งข่าวที่เป็นนักการทูตบอกกับรอยเตอร์ว่า มาคร็องน่าจะหารือกับทรัมป์ ซึ่งอาจจะมีประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนร่วมอยู่ด้วยหากเขาตัดสินใจตอบรับคำเชิญมาร่วมงานเปิดตัวนอเทรอดาม แต่การที่ฝรั่งเศสไม่มีแผนงบประมาณในปีหน้า นั่นหมายความว่ามาคร็องไม่สามารถมีคำมั่นสัญญาถึงอนาคตได้มากนัก

ที่ผ่านมา ทรัมป์ย้ำข้อเรียกร้องให้ยุโรปแบกรับภาระสงครามในยูเครนให้มากขึ้นเสมอ และเซเลนสกีเองก็ขอให้ชาติพันธมิตรเข้ามาช่วยเหลือยูเครนให้มากขึ้น ซึ่งสภาวะสุญญากาศในปารีสที่ดำเนินอยู่นี้ ไม่นำพาให้ฝรั่งเศสสามารถตอบสนองต่อเงื่อนไขข้างต้นได้

ในวันพฤหัสบดี มาคร็องประกาศว่าจะแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ “ในไม่กี่วันข้างหน้า” ทว่าโจทย์เรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะต้องไปเผชิญหน้ากับรัฐสภาเดิมจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่อย่างน้อยในเดือนกรกฎาคมปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้จัดเลือกตั้งได้อย่างเร็วที่สุด

มาคร็องเหลือเวลาตามวาระดำรงตำแหน่งอีกราวสองปีครึ่ง

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG