ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ล็อกดาวน์และการกระจายวัคซีนโควิด-19 ไม่ทั่วถึงจะกระทบห่วงโซ่อุปาทานจากแอฟริกาและเอเซียถึงทั่วโลก


Police officers inspect motorcycle riders at a checkpoint during a stricter lockdown as a precaution against the spread of the coronavirus at the outskirts of Marikina City, Philippines on Friday, August 6, 2021. Thousands of people jammed…
Police officers inspect motorcycle riders at a checkpoint during a stricter lockdown as a precaution against the spread of the coronavirus at the outskirts of Marikina City, Philippines on Friday, August 6, 2021. Thousands of people jammed…

ถึงแม้เศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปจะสามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างรวดเร็วและในวงกว้างก็ตาม แต่อัตราการได้รับวัคซีนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญยังเป็นไปได้ไม่ดีนัก

ตัวอย่างเช่นในประเทศไทยการกระจายวัคซีนขณะนี้ทำได้เพียงราว 5.7% ของประชากร ในไต้หวันที่ 1.8% และในเวียดนามมีประชากรที่ได้รับวัคซีน โควิด-19 ครบโดสเพียงแค่ 0.8% เท่านั้นเอง สถานการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นในประเทศอื่นของเอเชียซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญ เช่น มาเลเซียกับอินโดนีเซียด้วยเช่นกันและทำให้เกือบทุกประเทศต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์และปิดโรงงานเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

แต่การเชื่อมต่อของระบบเศรษฐกิจโลกและการที่เอเชียเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญสำหรับตลาดผู้บริโภคโดยเฉพาะในสหรัฐฯ กับยุโรปก็หมายถึงว่าการชะลอการผลิตหรือการต้องปิดโรงงานในภูมิภาคหนึ่งย่อมจะส่งผลถึงสินค้าที่จะมีขายในอีกภูมิภาคได้ด้วย และขณะนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็มีความกังวลว่าอาจไม่มีประเทศใดที่เศรษฐกิจจะสามารถกลับไปขยายตัวอย่างยั่งยืนได้จนกว่าจะสามารถควบคุมปัญหาการระบาดของโควิดอย่างทั่วถึงทั่วโลก

ความกังวลเรื่องการระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทำให้องค์กรธุรกิจบางแห่ง เช่น สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าของสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงทำเนียบขาวขอให้เร่งกระจายวัคซีน โควิด-19 ที่สหรัฐฯ มีเหลืออยู่ให้กับเวียดนามรวมทั้งประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญในเอเชีย โดยนายสตีฟ ลามาร์ ประธานสมาคมได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งเน้นการกระจายวัคซีนโควิด-19 ไปที่กลุ่มประชากรหลักในประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิต และให้เหตุผลว่าหากไม่มีระบบการกระจายวัคซีนซึ่งมีเป้าหมายอย่างชัดเจนแล้ว โควิด-19 ก็จะทำลายอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้ในที่สุด

ปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในทวีปเอเชียซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานและแหล่งการผลิตสินค้าสำคัญเพื่อป้อนตลาดในกลุ่มประเทศตะวันตกเท่านั้น เพราะนายพอล เบเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ปรึกษา International Economics Consulting เตือนว่าจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดถ้าจะมุ่งให้ความสนใจกับปัญหาปั่นปวนของระบบการผลิตในทวีปเอเชียเท่านั้น เพราะทวีปแอฟริกาซึ่งขณะนี้มีอัตราการกระจายวัคซีนต่อประชากรต่ำที่สุดในโลกคือเพียงแค่ 5.4% เท่านั้นก็เป็นภูมิภาคสำคัญในฐานะแหล่งป้อนวัตถุดิบสำหรับการผลิตในเอเชียด้วย

คุณพอล เบเกอร์ยังเสริมด้วยว่าขณะนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปที่เห็นอยู่นี้เป็นเรื่องจริงและมีความยั่งยืนหรือเป็นเรื่องเทียม เพราะเศรษฐกิจในทั้งสองภูมิภาคนี้ได้รับประโยชน์และแรงกระตุ้นอย่างมหาศาลจากมาตรการด้านการคลังของรัฐบาล ซึ่งหากมาตรการที่ว่านี้สิ้นสุดลงและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาสูงขึ้นอีก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นอยู่ในขณะนี้ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน

(ที่มา: VOA)

XS
SM
MD
LG