เรื่องที่ว่าเสียงหนวกหูกระทบกระเทือนต่อสุขภาพของคนเราซึ่งรวมถึงเรื่องการเสี่ยงต่อการทำให้เป็นโรคหัวใจร่วมหลอดเลือดด้วยนี้ได้ยินได้ฟังกันมาหลายหนแล้ว แต่งานวิจัยของนักวิจัย แมธเธียส เอ็กเกอร์และคณะที่มหาวิทยาลัยเบิร์นสามารถทำให้กำหนดลงไปได้ว่าผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของคนดังกล่าวนั้นเกิดจากเสียงจริงหรือ หรือว่าปัจจัยอื่นๆที่มาพร้อมกับเสียง อย่างเช่น อากาศเป็นพิษเป็นตัวก่อเรื่องกันแน่? นักวิจัย แมธเธียส เอ็กเกอร์ กล่าวว่า ผลกระทบนั้นจะเห็นได้ชัดมากเป็นพิเศษในหมู่ผู้ที่ต้องฟังระดับเสียงที่ดังแผดจ้ามากๆ และยังเกี่ยวกับปัจจัยที่ว่าคนเหล่านั้นพำนักอยู่ในที่ที่มีเสียงดังหนวกหูนั้นนานแค่ไหนด้วย
นักวิจัย แมธเธียส เอ็กเกอร์และคณะพบว่าผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากอาการหัวใจวายมีจำนวนหนึ่งหมื่นห้าพันสามร้อยรายในหมู่ประชาชนสี่ล้านหกแสนคนที่พำนักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปลายพุทธศักราช 2543 ถึงสิ้นปีพุทธศักราช 2548 โดยพวกเขาศึกษาวิจัยจากรายงานบันทึกเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตที่เรียกว่า Swiss National Cohort ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
คณะนักวิจัยอาศัยเอกสารของทางราชการและข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการกำหนดวัดว่าที่พักของปัจเจกชนนั้นอยู่ห่างจากท่าอากาศยานและถนนสายสำคัญๆมากน้อยแค่ไหน และมีอนุภาคในย่านนั้นมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังทำให้คณะนักวิจัยวัดสอบระดับเสียงของเครื่องบินและภาวะอากาศสกปรกเป็นพิษที่กระทบถึงปัจเจกชนแต่ละรายในช่วงสิบห้าปีหรือนานกว่านั้นได้อย่างแม่นยำด้วย
หลังจากรวมเรื่องภาวะอากาศสกปรกเป็นพิษ เรื่องระดับของการศึกษา ระดับรายได้และปัจจัยอื่นๆเข้าไว้ด้วยแล้ว คณะนักวิจัยรายงานไว้ในวารสาร Epidemiology ว่า ระดับเสียงของเครื่องบินและระยะเวลาที่ได้ยินเสียงนั้นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายถึงตายมากขึ้น ในหมู่ผู้ที่ต้องทนฟังเสียงดังเฉลี่ยแล้วอย่างน้อยหกสิบเดซิเบลในแต่ละวันเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายมากกว่าผู้ที่ต้องทนฟังเสียงดังไม่ถึงสี่สิบห้าเดซิเบลนั้นสามสิบเปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่ต้องทนฟังเสียงในระดับที่ดังกว่านั้นเป็นเวลาตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปจะเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายตายมากกว่าเดิมห้าสิบเปอร์เซ็นต์
นักวิจัย แมธเธียส เอ็กเกอร์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าเสียงเครื่องบินดังเป็นพักๆและบางขณะดังกว่าหนึ่งร้อยเดซิเบลถ้าเราอยู่ใกล้กับเครื่องบินที่กำลังจะขึ้นหรือลงสู่สนามบินทำให้การวัดสอบระดับเสียงยุ่งยากมากขึ้น แต่ทว่าระดับเสียงโดยเฉลี่ยหกสิบเดซิเบลนั้นดังพอๆกับเสียงจ้อกแจ้กตามบาร์ที่มีผู้คนเบียดเสียดเยียดยัด
อนึ่ง การอยู่ห่างจากถนนสายสำคัญภายในรัศมีหนึ่งร้อยเมตรก็เพิ่มการเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายมากขึ้นเช่นกัน แต่นักวิจัยไม่พบว่าอนุภาคจากสภาพอากาศที่สกปรกเป็นพิษมีผลกระทบต่อหัวใจแต่อย่างใด