มีรายงานว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม เฮลิคอปเตอร์ของอังกฤษลำหนึ่งซึ่งลำเลียงนักการทูต และเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษไร่อนลงที่ทางใต้ของเมืองเบงกาซี ซึ่งกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบียควบคุมอยู่
แต่เจ้าหน้าที่อังกฤษดังกล่าวถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบียจับกุมตัวและปลดอาวุธ โดยโฆษกของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกล่าวว่าลิเบียเป็นประเทศเอกราช และไม่ทราบว่าคนกลุ่มนี้เข้าไปในประเทศด้วยเหตุผลอะไร แต่จากลักษณะการเดินทางเข้าไปอย่างลับๆ แทนที่จะใช้เมืองท่าหรือสนามบินของเมืองเบงกาซี ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบียปฏิเสธไม่ต้องการพบปะหารือกับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม คณะเจ้าหน้าที่ของอังกฤษชุดนี้ได้เดินทางออกจากลิเบียแล้วโดยทางเรือรบ HMS Cumberland ของราชนาวีอังกฤษ แต่ต้องทิ้งอาวุธและเฮลิคอปเตอร์ไว้ในลิเบีย และในวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม นาย William Hauge รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยอมรับว่า ตนเป็นผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่การทูตและหน่วยปฏิบัติการพิเศษดังกล่าวเข้าไปในลิเบียเอง
นักวิเคราะห์ชี้ว่าความล้มเหลวของปฎิบัติการครั้งนี้สะท้อนถึงปัญหาที่รัฐบาลประเทศต่างๆ มีอยู่ในการกำหนดนโยบายเรื่องลิเบียในขณะนี้ ว่าควรจะเข้าไปมีการติดต่อสัมพันธ์กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือควรจะยืนอยู่ห่างๆ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย และนาย Dan Plesch ผู้อำนวยการโครงการศึกษาระหว่างประเทศของ School of Oriental and African Studies ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า ในกรณีนี้รัฐบาลอังกฤษควรจะติดต่อหารือกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก่อนล่วงหน้า หรือขอความเห็นจากทูตอังกฤษในลิเบียว่าควรจะมีปฏิบัติการนี้หรือไม่ แต่ผลที่ออกมาก็คือความล้มเหลวซึ่งน่าอับอายขายหน้า อย่างไรก็ตามรัฐบาลอังกฤษยังคงมีท่าทีปกป้องการตัดสินใจของตนและว่าจะยังติดต่อกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในลิเบียต่อไป ส่วนนายกรัฐมนตรีของอังกฤษก็ออกมาแถลงเรียกร้องอีกครั้งว่านายมูอัมมาร์ กัดดาฟีร์ ผู้นำลิเบียควรจะสละตำแหน่งโดยทันที