ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เหตุสังหารผู้บริสุทธิ์ในแอลเอและนิวยอร์ก จุดประเด็นปัญหาเรื่องคนไร้บ้าน


Walikota New York Eric Adams berbicara dalam acara mengenang Michelle Go, perempuan yang tewas setelah didorong ke depan kereta api bawah tanah yang melaju, di Times Square, New York, pada 18 Januari 2022. (Foto: Reuters/Jeenah Moon)
Walikota New York Eric Adams berbicara dalam acara mengenang Michelle Go, perempuan yang tewas setelah didorong ke depan kereta api bawah tanah yang melaju, di Times Square, New York, pada 18 Januari 2022. (Foto: Reuters/Jeenah Moon)

เหตุสังหารและทำร้ายผู้บริสุทธิ์หลายเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการก่อเหตุโดย “คนไร้บ้าน” ได้จุดชนวนความโกรธแค้น หวาดกลัว และฉายประเด็นด้านสังคมอันเรื้อรังในนิวยอร์กและลอสแอนเจลิสให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตามรายงานของเอพี

ในแง่มุมของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนไร้บ้าน กังวลว่า ความโกรธแค้นของผู้คนในสังคมต่อการก่ออาชญากรรมของคนไร้บ้าน จะทำให้กลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวเปราะบางเหล่านี้เสี่ยงอันตรายมากขึ้น

ไฮดิ มาร์สตัน (Heidi Marston) ผู้อำนวยการ Los Angeles Homeless Services Authority บอกว่า เหตุสังหารผู้บริสุทธิ์โดยฝีมือคนไร้บ้านนับเป็นโศกนาฏกรรม แต่ไม่ควร “เหมารวม” คนไร้บ้านว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง หรือเข้าจัดการปัญหาคนไร้บ้านด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะนั่นไม่ได้ช่วยเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อได้เลย

ด้านเอริค ทาร์ส์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายจาก National Homelessness Law Center บอกว่า การตีตราคนไร้บ้านว่าเป็นกลุ่มคนที่เราต้องหวาดกลัว มากกว่ามีความเมตตาให้นั้น ยิ่งผลักไสให้พวกเขาเข้าหาการก่ออาชญากรรมและการใช้ความรุนแรง

ทาร์ส์ นักสิทธิเพื่อคนไร้บ้าน และผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ เห็นว่า คนไร้บ้านเป็น “เหยื่อ” ของความรุนแรง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆมากกว่าเป็นฝ่ายก่อเหตุ ขณะที่ข้อมูลที่สนับสนุนประเด็นนี้กลับไม่มากพอ เพราะตำรวจมักไม่รายงานเหตุการณ์ลักษณะนี้หากมีคนไร้บ้านมาเกี่ยวข้องด้วย เหตุผลหนึ่งเพราะว่าทางสำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ไม่ได้ขอรายละเอียดเกี่ยวกับที่พำนักอาศัยเมื่อต้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ

สำนักข่าวเอพี ได้ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจในนครลอสแอนเจลิสและนิวยอร์ก รวมทั้งในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ อีก 6 แห่งที่มีจำนวนคนไร้บ้านในสัดส่วนที่สูง ทั้ง ชิคาโก ฮอโนลูลู ซานฟรานซิสโก ซีแอตเติล พอร์ตแลนด์ในรัฐโอเรกอน และที่กรุงวอชิงตัน เพื่อดูว่ามีการเก็บข้อมูลที่พำนักอาศัยของเหยื่อและผู้ต้องสงสัยในเหตุฆาตกรรมหรือไม่ ซึ่งพบว่าทุกเมืองใหญ่ยกเว้นนครลอสแอนเจลิสไม่มีการเก็บข้อมูลดังกล่าว

นครลอสแอนเจลิส มีประชากรคนไร้บ้านประมาณ 40,000 คน หรือราว 1% ของประชากร 4 ล้านคนในพื้นที่ โดยเมื่อปีที่แล้ว คนไร้บ้านในแอลเอ เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม 397 คดี หรือราว 11% ของคดีฆาตกรรมในพื้นที่ แต่เป็นเหยื่อของคดีฆาตกรรมมากกว่าเท่าตัว คือ 90 คดี หรือคิดเป็น 23% ขณะที่คนไร้บ้านเป็นทั้งเหยื่อและผู้ก่อเหตุราว 27 คดีฆาตกรรมในแอลเอ

เมื่อย้อนดูข้อมูลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า สัดส่วนคดีฆาตกรรมในแอลเอที่มีคนไร้บ้านเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ที่ 6.5% ถึง 12.9% ตามการวิเคราะห์ของเอพีกับสำนักงานตำรวจนครลอสแอนเจลิส หรือ LAPD แต่ความถี่ของคดีที่คนไร้บ้านถูกสังหารนั้นอยู่ที่ 10% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 และมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่คดีที่เหยื่อเป็นคนไร้บ้านกลับได้รับความสนใจน้อยกว่าคดีที่คนไร้บ้านเป็นผู้ก่อเหตุ

โดนัลด์ เอช ไวท์เฮด จูเนียร์ จาก National Coalition for the Homeless ชี้ถึงปัญหาการติดตามคดีอาชญากรรมรุนแรงจากความเกลียดชังคนไร้บ้านที่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร โดยบอกว่า การเสียชีวิตของทุกคนมีความสำคัญ เราควรเสียใจกับการสูญเสียไม่ว่าเขาจะเป็นคนมั่งมี คนยากจน หรือ คนไร้บ้าน

การทำร้ายและสังหารผู้คนโดยไม่เลือกหน้าโดยฝีมือคนไร้บ้านในนิวยอร์กและแอลเอนั้น ได้รับความสนใจจากสื่อในสหรัฐฯ และความเห็นอกเห็นใจหลั่งไหลไปที่เหยื่อจากเหตุการณ์เหล่านี้

2 เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา โดย 2 เหตุการณ์ที่แอลเอ เกิดขึ้นกับซานดรา เชลส์ พยาบาลวัย 70 ปี ที่กำลังรอรถประจำทางไปทำงานในย่านใจกลางแอลเอในช่วงเช้า แต่เธอถูกเคอร์รี เบล คนไร้บ้านวัย 48 ปี ชกร่วงลงไปกับพื้นจนกะโหลกร้าว

และอีกเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกฟากฝั่งของเมือง มีเหตุการณ์ที่บริอานน่า คัพเฟอร์ นักศึกษาปริญญาโทของ UCLA ถูกแทงจนเสียชีวิตระหว่างทำงานคนเดียวในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ โดยฝีมือของชอว์น ลาวาล สมิธ ชายไร้บ้านวัย 31 ปี ซึ่งทางการตั้งข้อหากับผู้ก่อเหตุทั้งสองแล้ว

และจากนั้นอีก 2 วันต่อมาในมหานครนิวยอร์ก มิเชล โก หญิงเชื้อสายเอเชียวัย 40 ปีที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษา ถูกมาร์เชียล ไซมอน วัย 61 ปี ซึ่งภายหลังเข้ามอบตัวกับตำรวจ ผลักตกลงไปในรางรถไฟใต้ดิน ก่อนจะถูกรถไฟพุ่งเข้าชนเสียชีวิต แต่น้องสาวของผู้ต้องสงสัยเปิดเผยกับสื่อเดอะนิวยอร์กโพสต์ว่าชายคนนี้มีประวัติเป็นโรคจิตเภทและอาการหนักขึ้นเมื่อสูญเสียแม่ไปเมื่อ 20 ปีก่อน ทางศาลจึงให้ผู้ก่อเหตุเข้ารับการประเมินทางจิตเวชต่อไป

ทั้งไซมอน เบล และสมิธ ขึ้นบัญชีว่าเป็นคนผิวสีที่มีประวัติด้านอาชญากรรม ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองสหรัฐฯ ระบุว่า คนผิวสีและคนพื้นเมืองที่เป็นคนไร้บ้านมีสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปของประเทศ โดยพบว่า คนผิวดำคิดเป็นสัดส่วน 39% ของคนไร้บ้านในอเมริกา ขณะที่คนผิวดำคิดเป็นสัดส่วนราว 12% ของประชากรโดยรวมของสหรัฐฯ ขณะที่คนพื้นเมืองและคนเชื้อสายหมู่เกาะแปซิฟิกที่มีสัดส่วน 1% ของประชากรอเมริกัน เป็นคนไร้บ้านถึง 5%

ในระหว่างทางการไม่ได้กล่าวถึงประเด็นอาการป่วยทางจิตในเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ในรายงานของกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 พบว่า คนไร้บ้านอย่างน้อย 20% ในอเมริกา และเกือบ 1 ใน 4 ของคนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนีย และราว 17% ในนิวยอร์ก เป็นผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตอย่างรุนแรง

ซึ่งทาง LAPD มองว่า จากตัวเลขสถิติ ความสูญเสียทั้งหลาย ประเด็นปัญหาสุขภาพจิต การใช้สารเสพติด และการมีบ้าน ต่างสะท้อนกลับไปให้ผู้กำหนดนโยบายต้องเข้ามาช่วยเหลือในการสนับสนุนการมีบ้านมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายกับคนกลุ่มนี้

ปัจจุบัน นายกเทศมนตรีคนใหม่ของมหานครนิวยอร์ก เอริค อดัมส์ ประกาศแผนที่จะเพิ่มตำรวจตามสถานีรถไฟใต้ดิน และยื่นมือช่วยเหลือคนไร้บ้านเพื่อต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมและมุมมองความคิดเรื่องการก่ออาชญากรรม หลังจากที่อดัมส์ลงพื้นที่นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินในวันแรกที่รับตำแหน่ง และยอมรับว่าเขารู้สึกไม่ปลอดภัย และเห็นคนไร้บ้านเต็มไปหมด พวกเขาเอาแต่ตะโกนโวยวายบนรถไฟ และเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่มีระบบระเบียบเรียบร้อย

รายงานของกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองสหรัฐฯ ระบุว่า ราว 1 ใน 4 ของคนไร้บ้านราว 580,000 คนของสหรัฐฯ อยู่ในมหานครนิวยอร์กและแอลเอ ขณะที่ปัจจุบันในรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังมีคนไร้บ้านราว 160,000 คน แม้ว่ารัฐแคลิฟอร์เนียจะทุ่มงบประมาณเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์จากงบประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วเพื่อแก้ปัญหานี้ก็ตาม

ในมุมมองของโจนาธาน เชอริน ผู้อำนวยการด้านสุขภาพจิตของแอลเอ ชี้ว่า ความพยายามดังกล่าวเป็นการปิดพลาสเตอร์ยาให้กับปัญหาที่เป็นแผลเรื้อรังมาหลายทศวรรษ แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือต้องกระจายทรัพยากรของรัฐ และสร้างชุมชนที่ทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อมอบโอกาสให้คนไร้บ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมั่นคงสมบูรณ์ได้

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG