สหรัฐฯ และองค์การสหประชาชาติ แสดงความยินดีกับการกลับมาเจรจาครั้งแรกในรอบ 2 ปี ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เมื่อวันอังคาร ซึ่งมองกันว่าเป็นโอกาสสำหรับการลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี
คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ร่วมแสดงความยินดีต่อการพบปะระหว่างสองเกาหลีเมื่อวันที่ 9 มกราคมเพื่อมุ่งสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย และความสำเร็จของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองเปียงชางของเกาหลีใต้ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
และว่าสหรัฐฯ ยังคงการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับเกาหลีใต้ เพื่อให้แน่ใจว่าการที่เกาหลีเหนือเข้ามีส่วนร่วมในการแข่งกีฬาดังกล่าว จะไม่ละเมิดมาตรการลงโทษใดๆ ขององค์การสหประชาชาติ
ส่วนโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ก็กล่าวว่าสหรัฐฯ จะส่งตัวแทนระดับสูงไปยังการแข่งกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ และการที่เกาหลีเหนือจะมีส่วนเข้าร่วม นับเป็นโอกาสให้รัฐบาลกรุงเปียงยางได้เห็นคุณค่าของการยุติการถูกโดดเดี่ยวโดยนานาชาติด้วยการตัดสินใจลดอาวุธนิวเคลียร์
ระหว่างการหารือเมื่อวันอังคาร ตัวแทนของสองเกาหลีตกลงจะกลับมาเปิดการสื่อสารทางทหารแบบสายด่วน ซึ่งถูกระงับไปเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วอีกครั้ง และโฆษกของเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ก็แถลงว่า การกลับมาเปิดช่องทางการสื่อสารโดยตรงนี้มีความสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงของการคาดเดาและความเข้าใจผิด
สหประชาชาติหวังว่า การติดต่อและความพยายามเรื่องนี้จะนำไปสู่การหารืออย่างจริงใจ เพื่อให้เกิดการลดอาวุธนิวเคลียร์และสันติภาพอย่างยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลีด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการเจรจาที่หมู่บ้านปันมุนจอมครั้งนี้ จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีที่มีความหมายหรือไม่ เพราะนักวิเคราะห์บางคน เช่น นาย Harry Kazianis ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาด้านกลาโหมของ Center for the National interest ที่กรุงวอชิงตัน เชื่อว่าเกาหลีเหนือมีเจตนาหลอกลวงเพื่อพยายามถ่วงเวลา เพราะขณะนี้เกาหลีเหนือต้องการเวลาเพียงอีกไม่กี่เดือน เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถโจมตีได้ถึงสหรัฐฯ
ส่วนนาย John Bolton นักการทูตแนวทางสายเหยี่ยว ที่เคยเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ ก็เชื่อว่า เกาหลีเหนือมียุทธศาสตร์ในลักษณะที่ว่า โดยการเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงแผนโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น
มีรายงานว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนในรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังหารือเรื่องทางเลือกของการโจมตีเกาหลีเหนือในวงจำกัด
แต่นาย Abraham Denmark อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออก เตือนว่าการโจมตีแบบที่ว่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการจุดชนวนให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าการโจมตีของสหรัฐฯ ในวงจำกัดนี้ จะทำลายขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือลง และถ้าเป็นเช่นนั้นนายคิมจองอึนก็คงจะตอบโต้
อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผู้นี้เตือนด้วยว่า สงครามกับเกาหลีเหนือจะสร้างความพินาศเสียหายให้กับสหรัฐฯ มากกว่ารูปแบบความขัดแย้งใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา