ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รู้จักถุงมือปรับอากาศ ‘คูลมิทท์’ เมื่อโอลิมปิกลดการใช้แอร์ช่วงฤดูร้อนสุดระอุ


ภาพการเฉลิมฉลองปีใหม่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มีสัญลักษณ์มหกรรมโอลิมปิกอยู่ด้วย วันที่ 1 มกราคม 2024 (ที่มา: Reuters/แฟ้มภาพ)
ภาพการเฉลิมฉลองปีใหม่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มีสัญลักษณ์มหกรรมโอลิมปิกอยู่ด้วย วันที่ 1 มกราคม 2024 (ที่มา: Reuters/แฟ้มภาพ)

รอยเตอร์รายงานเกี่ยวกับถุงมือชื่อ ‘คูลมิทท์ (CoolMitt)’ สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้รับมืออากาศที่ร้อนจัดในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในกรุงปารีสที่กำลังจะมาถึง ที่ประกาศว่าลดการใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่อีกด้านก็สร้างความท้าทายเรื่องสมรรถภาพและอันตรายต่อสุขภาพของนักกีฬา

รอยเตอร์รายงานว่า เกมกีฬาระดับโลกในกรุงปารีสครั้งนี้จะไม่มีการใช้เครื่องปรับอากาศในห้องของนักกีฬา ตามคำมั่นเรื่องการเป็นโอลิมปิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

เมื่อผนวกกับอากาศในยุโรปที่ร้อนขึ้นนับตั้งแต่ทำลายสถิติเมื่อปี 2023 ทำให้การจัดการเรื่องอุณหภูมิร่างกายทั้งในช่วงการฝึก งานฟื้นตัว และการแข่งขันกลายเป็นโจทย์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น

เครก เฮลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอุณหภูมิ คือผู้ร่วมประดิษฐ์ถุงมือคูลมิทท์ ที่จะช่วยระบายความร้อนออกจากตัวผู้สวมใส่ และช่วยลดอุณหภูมิของเลือดที่ไหลเวียนเข้าสู่หัวใจ ที่จะสูบฉีดกลับเข้าไปตามกล้ามเนื้อ โดยจะใช้งานในช่วงพักของการฝึกและการแข่งขัน

เฮลเลอร์กล่าวว่า “สิ่งที่คูลมิทท์ทำคือการป้องกันภาวะไฮเปอร์เธอร์เมีย หรือการที่อุณหภูมิร่างกายสูงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย” และกล่าวด้วยว่าการระบายความร้อนจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ร่างกายได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การทำงานของคูลมิทท์ มุ่งเป้าไปที่ผิวหนังส่วนไร้ขน ซึ่งตามการศึกษานั้นเป็นจุดที่มีเส้นเลือดแบบพิเศษที่ช่วยลดความร้อนในร่างกาย โดยด้านในถุงมือจะมีแผ่นบรรจุน้ำอุณหภูมิ 10-12 องศาเซลเซียสเพื่อดึงความร้อนออก และทำให้เลือดเย็นตัวลงก่อนเกิดภาวะเส้นเลือดหดตัว

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตั้งอยู่ในย่านเบย์แอเรียของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชื่อเสียงในฐานะที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของนักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1912

นักวิชาการในสถานศึกษาแห่งนี้ไม่เพียงได้โอกาสในการศึกษานักกีฬา แต่การที่อยู่ไม่ไกลจากย่านเทคโนโลยีชื่อดังอย่างซิลิคอนวัลเลย์ ก็ทำให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในการทดลองต่าง ๆ ด้วย

ไทเลอร์ ฟรีดริช รองผู้อำนวยการด้านสมรรถภาพประยุกต์ของนักกีฬา ม.สแตนฟอร์ด กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายมีผลต่อสมรรถภาพของนักกีฬา และในบางกรณีก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการแข่งขันระดับสูง ซึ่งวิธีการที่ใช้บ่อย ๆ อย่างการแช่ตัวในน้ำแข็งที่เย็นจัด และใช้ผ้าขนหนูเย็น ๆ ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก

การศึกษาที่เพิ่งมีการเผยแพร่ ระบุว่ายังคงต้องมีการติดตามและวิจัยประสิทธิภาพของการใช้น้ำเย็นเพื่อลดความร้อนของร่างกายต่อไป

แต่ฟรีดริชจาก ม.สแตนฟอร์ดกล่าวว่า คูลมิทท์ได้สร้างความแตกต่างในการแข่งขัน เพราะนักกีฬาที่แข่งขันเสร็จยังคงมีเรี่ยวแรงเหมือนกับช่วงก่อนแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นผลดีทั้งในแง่สมรรถภาพและความรู้สึกในทางจิตวิทยา

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG