ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กํมฺรเตงชคตฺศรีศิขรีศวร: ฟ้องลิขสิทธิ์เพลง และปมร้าวไทย-กัมพูชา


ภาพบันทึกจากหน้าจอของการแสดงชุด กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร (Apsara Thai Traditional Dance) เผยแพร่ทางช่องทางยูทูบ "นาฏยศิลป์ สินไซ" ซึ่งทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่ากองประกวด Miss Global 2023 ที่กัมพูชานำเพลงไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต (Courtesy)
ภาพบันทึกจากหน้าจอของการแสดงชุด กํมฺรเตงฺชคตฺศรีศิขรีศวร (Apsara Thai Traditional Dance) เผยแพร่ทางช่องทางยูทูบ "นาฏยศิลป์ สินไซ" ซึ่งทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่ากองประกวด Miss Global 2023 ที่กัมพูชานำเพลงไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต (Courtesy)

คดีความด้านลิขสิทธิ์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มเดินเรื่อง หลังกองประกวดนางงามในกัมพูชาใช้เพลงของนักศึกษาโดยไม่ได้ขออนุญาต ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตไทยเป็นวงกว้างในช่วงต้นปี 2567 แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนปมวิวาทะของวัฒนธรรมร่วมระหว่างประชาชนสองชาติที่ยังไม่เห็นหนทางสู่การคลี่คลาย

ผศ.พชญ อัคพราห์มณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้รับแจ้งจากกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘แฟนคลับสายนางงาม’ ที่ติดตามการแข่งขันประชันความงาม ว่ามีการประกวดนางงาม Miss Global ที่กรุงพนมเปญในเดือนมกราคม 2567 นำเพลงที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับผลงานอดีตนักศึกษา มข. ไปเปิดใช้ในรอบชุดประจำชาติ

พชญ พบว่าเพลงในช่วงต้นคือผลงานจากการแสดงชุด กํมฺรเตงชคตฺศรีศิขรีศวร (กัม-ระ-เตง-ชะ-คะ-ตะ-สี-สิ-ขะ-รี-สวน) ซึ่งเป็นผลงานที่ทำส่งในวิชาเรียนของคณะ ที่นักศึกษาจัดทำขึ้นมาเองตั้งแต่แนวคิด ดนตรี และรายละเอียดการแสดง โดยอ้างอิงจากวัฒนธรรมอีสานใต้ โดยได้เผยแพร่ในแพลตฟอร์มยูทูบเมื่อปี 2564 และมียอดผู้เข้าชมมากว่า 2.4 ล้านวิว

พชญ ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ได้ฟ้องร้องด้านลิขสิทธิ์ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เนื่องจากทีมจัดการประกวดไม่ได้ขออนุญาตการใช้งานจากเจ้าของผลงานหรือมหาวิทยาลัย โดยเพลงดังกล่าวถูกตัดแต่งจังหวะและใส่ลูกเล่นให้เข้ากับการนำเสนอในงาน

“งานชิ้นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เราได้ยินในโซเชียลว่างานชิ้นนี้เป็นของ มข. และมีคนไปใช้ในการประกวด ก็เลยตรวจสอบ ก็พบว่ามันเป็นงานของนักศึกษาเรา” พชญกล่าว

“ผมค่อนข้างสื่อสารกับสื่อมวลชนว่าเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ แต่อารยธรรมคงแยกขาดไม่ได้ แต่เราไม่ได้อนุรักษ์ของเก่าหรือสืบเสาะ แต่มองว่าทุกวันนี้ วิธีสร้างงาน ส่งเสริมให้เกิดและคงอยู่มันเป็นกระบวนการที่ทางเราได้สร้างมันขึ้นมา มีหลักสูตร มีการเรียนการสอน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ อยากให้เห็นว่านี่คือศักยภาพของเรา ความรู้ ความคิดที่เกิดขึ้นในฝั่งของเรา” พชญ กล่าว

ด้านอิน โสพิน ประธานบริหารบริษัทโมฮาแฮง โปรดักชั่น (Mohahang Production) ผู้จัดงาน Miss Global ที่กลายเป็นประเด็น ให้ข้อมูลกับวีโอเอภาคภาษากัมพูชาเมื่อเดือนมีนาคมว่า ทีมงานเจอเพลงดังกล่าวบนยูทูบและคิดว่าเป็นเพลงของกัมพูชา และกล่าวด้วยว่า เพลงที่ใช้ในงานประกวดนั้น เป็นเพลงที่ทำขึ้นมาใหม่

อิน โสพิน ประธานบริหารบริษัทโมฮาแฮง โปรดัคชัน ที่สำนักงานในกรุงพนมเปญ
อิน โสพิน ประธานบริหารบริษัทโมฮาแฮง โปรดัคชัน ที่สำนักงานในกรุงพนมเปญ

อิน โสพินยังไม่ได้รับทราบข้อมูลเรื่องการถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่นฟ้องร้อง และขอโทษสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น และด้วยความที่สองประเทศมีดนตรีที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การพูดถึงเรื่องนี้มีความอ่อนไหวเสมอ

“ถ้าผมรู้ว่างานเป็นของเขา ผมก็คงไม่ใช้ เราจัดงานระดับโลก เรามีเงินที่จะซื้อเพลง”

“เราต้องการที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี” อิน โสพินกล่าว

วีโอเอไทยติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของ Miss Global ที่ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้รับการตอบกลับภายในช่วงเผยแพร่ข่าว

อนึ่ง การเข้าถึงในวันที่ 16 เมษายน 2567 พบว่าวิดีโอต้นทางของ Miss Global Cambodia ถูกตัดต่อโดยนำเพลงส่วนที่คล้ายคลึงกันออกไปแล้ว แต่การเข้าถึงในช่วงเดือนมีนาคมยังคงมีท่อนเพลงดังกล่าวอยู่

เสียงสะท้อนที่ร้าวลึกไปกว่าเรื่องลิขสิทธิ์

การฟ้องร้องที่หลายสำนักข่าวให้ความสนใจ ตามมาด้วยความเห็นในทางสาธารณะทั้งในทางที่เห็นด้วยกับการดำเนินคดี และความเห็นในทางที่แสดงความชิงชังกันระหว่างเชื้อชาติ ที่นำไปเกี่ยวพันกับการช่วงชิงความเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ผ่านมา เช่นกรณี กุนขแมร์-มวยไทย การแสดงโขน ไปจนถึงกรณีพื้นที่พิพาทปราสาทเขาพระวิหารในอดีต

“เยี่ยมมากครับ เรายอมมาเยอะแล้วปล่อยไว้เค้าหาว่าไทยไร้น้ำยา แล้วปลุกปั่นประชาชนไห้เคลมวัฒนธรรมไทยมาตลอด” ผู้ใช้รายหนึ่งให้ความเห็นใต้วิดีโอของข่าวนี้ที่ช่องยูทูบของสำนักข่าวข่าวสด

“เลิกคบค้าสมาคมได้เเล้วประเทศนี้ไม่น่าคบคอยเเต่จะเเทงข้างหลังฉกฉวยของของเราทุกอย่างคิดเองคงไม่เป็น” อีกความเห็นของผู้ใช้งานในยูทูบ ในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

“จัดให้หนักๆหน่อยครับ ทุกวันนี้มันบอกของมันหมด แย่ มาก คิดเองไม่เป็น เครมอย่างดียว” อีกหนึ่งคอมเมนท์ในรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอสในเฟซบุ๊ก

กำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า การทะเลาะเบาะแว้งคงดำเนินไปโดยไม่มีจุดจบหากทุกฝ่ายไม่สามารถปล่อยวาง เพราะว่าวัฒนธรรมในพื้นที่นี้มีความทับซ้อนร่วมกันมานานตั้งแต่ก่อนที่จะมีประเทศไทยและกัมพูชาแบบในปัจจุบัน

กำพล จำปาพันธ์
กำพล จำปาพันธ์

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีสานใต้สัมพันธ์กับเขมรพระนคร แต่ก็ต้องเข้าใจอีกว่า เขมรพระนคร นครวัด นครธม ก็เป็นคนละเรื่องกับกัมพูชาในปัจจุบัน เหมือนในประวัติศาสตร์ไทย สุโขทัย อยุธยา สิ่งแรกที่ต้องทำเลยก็คือคุณต้องละความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับมันเสียก่อน สุโขทัยและอยุธยาเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เหมือนปัจจุบัน และไม่ได้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันด้วย หลายเรื่องไม่ได้เป็นเรื่องที่เริ่มมาจากตรงนั้น”

“แน่นอนว่าอาณาจักรเมืองพระนครมันใหญ่มาก ๆ มันครอบคลุมอีสานใต้ ลาวใต้ บางส่วนของเวียดนามใต้ แต่นั่นคืออดีต อดีตก็คืออดีต ถ้าเราเอาตรงนั้นมาปะปนกับปัจจุบันก็มีปัญหาแน่ มันจะมีคนได้ดินแดน เสียดินแดน จะเคลมกันมั่วซั่วไปหมดเลย” กำพลกล่าว

ซัมโบ มานารา ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปันนาศาสตรา ประเทศกัมพูชา ให้ข้อมูลกับวีโอเอภาคภาษาเขมรว่า ไทยและกัมพูชาต้องหลีกเลี่ยงการโหมกระพือกระแสชาตินิยม เพื่อลดความขัดแย้งในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน

“ผมคิดว่า [ไทยและกัมพูชา] จำเป็นที่จะต้องศึกษาและค้นคว้า และหาทางแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านความสามัคคีและการพัฒนาระหว่างสองประเทศ และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปันนาศาสตรา กล่าว

  • Sun Narin ผู้สื่อข่าววีโอเอภาคภาษากัมพูชา มีส่วนในการสัมภาษณ์เนื้อหาในบางส่วน

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG