วุฒิสมาชิก คามาลา แฮร์ริส นักการเมืองหญิงระดับชาติของสหรัฐฯ วัย 56 ปี สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งให้กับประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ในฐานะสตรีคนแรกที่จะได้นั่งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากที่อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน และตัวเธอเอง สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประจำปี ค.ศ. 2020
ส.ว.แฮรร์ริส ยังจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียและเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่ได้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย ถือเป็นการก้าวข้ามเส้นแบ่งและพรมแดนที่ทำให้ก่อนหน้านี้มีเพียงบุรุษซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาว ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองเป็นเวลามากกว่าสองศตวรรษ
ประวัติ "คามาลา" กับเส้นทางการเมือง
คามาลา แฮร์ริส เกิดที่เมืองโอ๊คแลนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีบิดาเป็นชาวจาไมก้าและมารดาเป็นชาวอินเดีย เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Howard ในกรุงวอชิงตัน และจบด้านกฎหมายจาก University of California
แฮร์ริส ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2003 ในฐานะอัยการเขตนครซานฟรานซิสโก และหลังจากนั้นอีกเจ็ดปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 2010 เธอก็ได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย
คามาลา แฮร์ริส ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2016 โดยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสองวุฒิสมาชิกสตรีผู้เป็นตัวแทนของรัฐแคลิฟอร์เนีย และถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมาได้เพียงสี่ปี เธอก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่โดดเด่นของพรรคเดโมแครต
เธอลงสมัครเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสำหรับการเลือกตั้งปีนี้ แต่ก็ต้องถอนตัวออกไปในช่วงต้นเนื่องจากไม่ได้รับความสนับสนุนและเงินบริจาคมากพอ
สู่หน้าประวัติศาสตร์ใหม่กับตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ในการตัดสินใจเลือกวุฒิสมาชิกหญิงคามาลา แฮร์ริส ให้ลงสมัครคู่กันในตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น อดีตรองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ตัวแทนของพรรคเดโมแครต ได้ทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะเลือกสตรีให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักการเมืองหญิงคนใดได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลย
นอกจากนั้น เมื่ออดีตรองประธานาธิบดีไบเดนชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขาจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ผู้มีอายุมากที่สุดด้วยวัย 78 ปี และในอีกสี่ปีต่อจากนี้ หากโจ ไบเดน เมื่อมีอายุ 81 ปี ตัดสินใจจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง นักวิเคราะห์การเมืองก็มองว่าการตัดสินใจครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการปูทางสำหรับผู้ที่อาจก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2024 นั่นเอง
การขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของคามาลา แฮร์ริส ยังถูกมองว่าเป็นการจุดประกายความหวังทางการเมืองของบรรดาสตรีทั่วประเทศ หลังการพ่ายแพ้ของนางฮิลลารี คลินตัน ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
จุดแข็งด้านกฎหมายและภูมิหลังหลากหลายทางวัฒนธรรม
นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าจุดแข็งของวุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริส คือประวัติการทำงานเพื่อช่วยปกป้องสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชน และภูมิหลังเกี่ยวกับงานด้านการรักษากฎหมาย รวมทั้งจุดยืนซึ่งค่อนข้างเป็นแนวสายกลางหรือเป็นกลางซ้าย
และถึงแม้สมาชิกกลุ่มหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตบางคนรวมทั้งกลุ่มคนหนุ่มสาวผิวดำ จะเคยตำหนิว่าวุฒิสมาชิกหญิงคามาลา แฮร์ริส ไม่ได้สนใจประเด็นการแบ่งแยกผิวและการใช้กำลังรุนแรงของตำรวจในสังคมอเมริกันมากเท่าที่ควรก็ตาม แต่แฮร์ริสก็ประกาศตัวเสมอว่าเธอนั้นเป็นอัยการแนวก้าวหน้าผู้สนับสนุนการปฏิรูประบบการทำงานของผู้รักษากฎหมายในสหรัฐฯ
ชื่อ "คามาลา" นั้น มีรากศัพท์ที่แปลว่า ดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมของอินเดีย ที่แสดงถึงการมีรากที่หยั่งลึกอยู่ใต้น้ำ ในขณะที่ส่วนของดอกนั้นชูอยู่เหนือน้ำและเบ่งบานรับแสงอาทิตย์
คุณแม่ของคามาลา แฮร์ริส เดินทางจากอินเดียไปยังสหรัฐฯ ขณะที่มีอายุเพียง 19 ปี เพื่อทำวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กลีย์ และต่อมาได้แต่งงานกับชาวอเมริกันเชื้อสายจาเมก้า อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ได้หย่าจากกันเมื่อ คามาลา แฮร์ริส มีอายุได้เพียงห้าปี และมารดาของเธอก็กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ช่วยถ่ายทอดค่านิยมต่าง ๆ ที่สำคัญให้กับคามาลา ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา
สำหรับตัวคามาลาเอง เธอแต่งงานกับชายเชื้อสายยิว ดั๊ก เอมฮอฟฟ์ ซึ่งเขาจะกลายเป็น "สุภาพบุรุษหมายเลขสอง" คนแรกของอเมริกาด้วยเช่นกัน
(รวบรวมรายงานจาก VOA AP และ NPR)