งานวิจัยที่ยืนยันในเรื่องผลของการรับประทานอาหารในเด็กวัยกำลังหัดเดิน หรือในวัยอายุประมาณ 1-3 ขวบ เป็นการวิจัยในระยะยาวโดยศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 14,000 คนในแถบตะวันตกของประเทศอังกฤษซึ่งเกิดในช่วงปีค.ศ.1991-1992 หรือเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว โดยเก็บข้อมูลสภาพความเป็นอยู่เป็นระยะตั้งแต่พวกเขามีอายุ 3 ขวบ 4 ขวบ 7 ขวบ และ 8 ขวบครึ่ง
การเก็บข้อมูลจะให้ผู้ปกครองกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับอาหารการกินที่ให้เด็กๆรับประทานในชีวิตประจำวัน ก่อนจะนำผลการศึกษามาแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่หนึ่งคือกลุ่มที่รับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปหรืออาหารประเภทจังค์ฟูดที่เต็มไปด้วยไขมันและน้ำตาล กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่รับประทานอาหารแบบดั้งเดิมโดยมีเนื้อสัตว์และพืชผักตามปกติ และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ค่อนข้างตระหนักในเรื่องสุขภาพคือรับประทานอาหารประเภทสลัด ผัก ผลไม้ หรือพาสต้า และข้าว เป็นต้น
ผลการวิจัยมีเด็กๆ 4,000 คนที่มีการเก็บข้อมูลเสร็จสิ้นโดยได้ทำการวัดไอคิวเด็กๆในวัย 8 ขวบครึ่งพบว่า ร้อยละ 20 ของเด็กๆ ที่รับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปหรือจังค์ฟูด มีไอคิวเฉลี่ยประมาณ 101 ขณะที่ร้อยละ 20 ของเด็กๆ ที่รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมีไอคิวเฉลี่ยที่ 106 ซึ่งผู้วิจัยบอกว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
คุณพอลลีน เอมเมทท์ นักวิจัยจาก University of Bristol ซึ่งศึกษาในเรื่องนี้ กล่าวว่าแม้ระดับไอคิวจะดูมีความแตกต่างเพียงเล็กๆ น้อย แต่ก็สามารถส่งผลถึงการจัดการในเรื่องต่างๆ ของตัวเด็กไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือเรื่องอื่นๆในชีวิตประจำวัน
แม้จะมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไอคิว กับการโภชนาการที่อาจจะผิดเพี้ยนไปเพราะปัจจัยอื่นๆเช่นภูมิหลังของครอบครัว และสถานะทางเศรษฐกิจ แต่นักวิจัยยืนยันว่ามีการควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่จะทำให้ผลการวิจัยผิดพลาดไปได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษาของผู้เป็นแม่ กลุ่มชนชั้นในสังคม อายุ หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆของครอบครัว นอกจากนี้ยังระบุว่าสิ่งสำคัญในการศึกษาครั้งนี้คือเป็นการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย
นักวิจัยจาก University of Bristol สรุปผลการศึกษาว่าสาเหตุที่เด็กๆที่รับประทานอาหารจังค์ฟูดมีผลกระทบต่อไอคิว มากกว่า เพราะอาหารประเภทนี้นั้นนอกจากจะขาดวิตามินแล้ว ยังขาดสารอาหารที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็กๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเด็กอ่อนในวัยเจริญเติบโต
งานวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับสุขภาพชุมชน โดย สมาคมการแพทย์ของอังกฤษ หรือ British Medical Association