คุณเจ็ต ติลกมลกุล พ่อครัวที่มีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐฯ เกิดและเติบโตในครอบครัวที่ทำการค้ามาแต่เด็ก แม้ช่วงวัยรุ่นจะมีความสับสน แต่วันหนึ่งเขาค้นหาตัวตนจนสำเร็จ ได้มีโอกาสเป็นเชฟในโรงแรมระดับห้าดาว ทุกวันนี้นอกจากเป็นพ่อครัว เขาได้ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจ
นิยามความสำเร็จแปรผันตามอายุ
เมื่อถามถึงนิยามความสำเร็จในมุมมองของเชฟเจ็ต “โดยส่วนตัวแล้วความสำเร็จจะเปลี่ยนไปทุกๆ 10 ปี ตามช่วงอายุ” เช่นในช่วงอายุ 20ปี เชื่อว่าตำแหน่งและชื่อเสียงของบริษัทที่เข้าไปทำงานคือสิ่งสำคัญ ช่วงอายุ 30 ปีจะวัดความสำเร็จจากการเงิน ส่วนช่วงอายุ 40 ปี เขาเริ่มมองเห็นว่าสิ่งสำคัญคือเวลา เป้าหมายคือทำอย่างไรให้มีเงินไหลเข้ากระเป๋า โดยไม่ต้องทำงานตามชั่วโมง (passive income) และเชฟเจ็ตหวังว่าในช่วงอายุ 50 ปี เขาจะได้ทำหน้าที่ของสามีและพ่อของลูกโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน
“วินัย” และ “ที่ปรึกษา” ส่วนผสมของความสำเร็จ
และองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะพาไปสู่ความสำเร็จเหล่านั้นในมุมมองของเจ็ตติลาบอกว่าต้องมี “วินัย” และมี “ที่ปรึกษา” ที่ดี “สิ่งแรกเลยที่ต้องมีคือวินัย ความสำเร็จจะมาพร้อมกับวินัย” การควบคุมตัวเองโดยเฉพาะวินัยทางด้านการเงินเป็นเรื่องที่ห้ามมองข้าม เชฟเจ็ตอธิบายเพิ่มว่า “ไม่มีใครเกิดมา แล้วเป็นนักธุรกิจที่เก่งทันที” การมีที่ปรึกษาจึงสำคัญ โดยสามารถหาที่ปรึกษาได้จากหลายวิธี เช่นการเลือกทำงานในบริษัทชั้นนำ โดยบริษัทเหล่านี้มักจะมีที่ปรึกษา คนคอยสอนงาน ให้เราเรียนรู้ระบบบริหาร และศึกษาข้อผิดพลาดจากงานที่ทำ หรืออีกวิธีคือการมีที่ปรึกษาเป็นคนรู้จักที่ไว้ใจได้ สำหรับเจ็ตติลาหนึ่งในที่ปรึกษาของเขา ที่คอยให้คำแนะนำคือเชฟ Bobby Flay พ่อครัวชาวอเมริกันชื่อดัง โดยเขาจะขอคำปรึกษาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจ
1 หมื่นชั่วโมงเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ
แต่อย่างไรก็ตาม เชฟเจ็ตบอกว่าความสำเร็จไม่มีทางลัด จะต้องให้เวลา ลงมือทำให้มาก โดยประสบการณ์ของเขานับจากปี พ.ศ.2541 จนถึง พ.ศ.2559 เป็นเวลา 18 ปีที่เชฟเจ็ตทำงานวันละ 12-18 ชั่วโมง ไม่เคยลาพักร้อน เขาบอกกับวีโอเอไทยว่าจนถึงวันนี้เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่เขาแต่งงานแต่ยังไม่เคยพาภรรยาไปพักผ่อนฮันนีมูนเลย ความสำเร็จต้องแลกมาด้วยความเสียสละ
เขาอธิบายว่า “ฝีมือต้องใช้เวลาบ่มเพาะ การจะเชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง ต้องทำซ้ำๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 หมื่นชั่วโมง”
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารไทย คู่แข่งมาก - อนาคต อาหารพื้นเมืองมาแรง
แม้จะมีพื้นฐานที่ดีด้านอาหารไทย แต่เชฟเจ็ตปฏิเสธที่จะแข่งขันทำธุรกิจร้านอาหารไทย เพราะเมื่อวิเคราะห์อุปสงค์และอุปทานในตลาด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ เขามองว่าคู่แข่งธุรกิจร้านอาหารไทยในปัจจุบันมีจำนวนมาก แต่ราคาอาหารไทยต่อจานกลับลดลง ส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากการแข่งขันโดยเฉพาะกลยุทธ์การตัดราคา
ส่วนในอนาคตเชฟเจ็ตเห็นแนวโน้มของธุรกิจอาหารไทยจะขยายตัวสู่อาหารพื้นเมืองมากขึ้น โดยเขาอธิบายว่าในช่วงสิบปีก่อนคนอเมริกันรู้จักแต่ผัดไทย วันนี้คนนิยมทานผัดขี้เมามากขึ้น และเชื่อว่าต่อไปเมนูพื้นบ้านอย่างข้าวซอยก็จะได้รับความนิยม
โอกาสดีๆ ที่รออยู่นอกสังคมคนไทย
สำหรับคนไทยหลายคนที่มาตามหาความสำเร็จในประเทศสหรัฐฯ แต่ยังไม่เห็นโอกาส เชฟเจ็ตแนะนำว่า “หากคนไทยต้องการที่จะสร้าง American Dream ให้สำเร็จ อย่ายึดติดการใช้ชีวิตในสังคมคนไทยเท่านั้น” ควรเปิดรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มทักษะทางภาษา เลือกทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ชีวิต และอย่าจำกัดตัวเองว่าต้องทำงานกับคนไทยเท่านั้น
ท้ายที่สุด สิ่งที่เจ็ตติลาต้องการฝากไว้ เขาบอกว่าการเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ไม่ว่าจากการอ่านข่าว อ่านหนังสือหรือฟัง Podcast ความรู้จะช่วยให้เราเห็นแนวโน้มและกระแสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกทางเดินที่ไม่ผิดพลาดทั้งด้านธุรกิจและการใช้ชีวิต