สำรวจโจทย์รัฐบาลไทยจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส นักวิเคราะห์ชี้ ใช้การทูตแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการช่วยเหลือแรงงาน-ตัวประกัน ต้องจับตาปัญหาความมั่นคง ประชาสังคมวอนไม่เหมารวมมุสลิม
ความขัดแย้งในอิสราเอลและฉนวนกาซ่า กลายเป็นความท้าทายระลอกล่าสุดสำหรับรัฐบาลไทย สืบเนื่องจากยอดผู้ได้รับผลกระทบทั้งที่ต้องหนีภัยสงคราม บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับเป็นตัวประกัน
กระแสการเตรียมบุกภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอลและการถล่มโรงพยาบาลในกาซ่า ยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่สร้างความซับซ้อนให้กับบทบาทใด ๆ ที่นานาชาติ รวมทั้งไทยกำลังกระทำ
วีโอเอไทยคุยกับนักวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อมองว่า ความขัดแย้งครั้งนี้ สร้างข้อท้าทายอะไรให้กับไทยบ้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ รองกรรมการสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มองว่าในระยะนี้ ภารกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลไทยคือการช่วยแรงงานและตัวประกันออกมา ผ่านการทูตแบบทวิภาคี และจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานให้คนที่มีสายสัมพันธ์ส่วนตัว ที่สามารถสื่อสารและต่อรองกับกลุ่มฮามาสได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
อาทิตย์กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นผู้สูญเสียลำดับต้น ๆ จากสงครามนี้ และมีความสัมพันธ์อันดีกับชาติอาหรับ ปาเลสไตน์ และอิสราเอล ไทยจึงมีความชอบธรรมในการประสานงานกับประเทศมุสลิมในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้มีปฏิบัติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า พร้อม ๆ ไปกับการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันคนไทยได้
“เราก็จะใช้กลไกตรงนี้ในการเข้าไปช่วยตัวประกันคนไทยด้วยในฐานะพลเรือน ที่จำเป็นจะต้องถูกกันออกมาจากพลรบ ในสถานการณ์ armed conflict ที่มีกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศคุ้มครองอยู่”
“ในมิติหนึ่งก็ต้องกดดันให้มีการเปิดความช่วยเหลือนำคนออกมาทางน่านน้ำซึ่งมีความยาว 40 กิโลเมตร ซึ่งก็จะช่วยให้มีระนาบหน้างานในการช่วยคนได้มากขึ้นและเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็คือการร่วมมือกันในกรอบพหุภาคี ส่งเสบียง อาหาร สิ่งจำเป็นพื้นฐาน และเวชภัณฑ์ ไปในพื้นที่ที่จำเป็นจะต้องถูกคุ้มครองตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” อาทิตย์กล่าว
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ยอดผู้เสียชีวิตคนไทยอยู่ที่ 30 ราย และมีจำนวนผู้ถูกจับเป็นตัวประกันยังอยู่ที่ 17 ราย
โฆษก กต. กล่าวด้วยว่า มีแผนที่จะลำเลียงชาวไทยจากกรุงเทลอาวีฟ ไปยังนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อนำคนกลับประเทศด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่จะมีหลายเที่ยวกว่าในปัจจุบัน โดยคาว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคมเป็นต้นไป ในส่วนการช่วยเหลือตัวประกัน มีการหารือในทุกระดับเพื่อให้มั่นใจว่าตัวประกันไทยยังปลอดภัย และขอให้มีการปล่อยตัวพลเมืองผู้บริสุทธิ์ด้วย
“เราก็อยากให้ทุกคนปลอดภัย และกลับมาสู่อ้อมอกของพ่อแม่ให้มากที่สุด ทุกประเทศมีการเจรจาหารืออยู่ รวมถึงประเทศไทยด้วย อันนี้ทำอยู่ แต่ไม่สามารถเปิดข้อมูลในรายละเอียดได้มาก และหลายหน่วยงานก็ช่วยกัน” กาญจนากล่าว
โอกาสที่กลายเป็นวิกฤต
ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โจทย์ของรัฐบาลไทยในระยะต่อไปมีสองเรื่อง ได้แก่ อนาคตของแรงงานไทยที่จะไปทำงานในอิสราเอลหลังจากนี้ และความเสี่ยงที่ไทยจะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะถูกใช้ในการโจมตีอิสราเอล
ในอดีต ไทยเคยตกเป็นสถานที่ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบต่ออิสราเอลมาแล้ว เช่น การบุกยึดสถานทูตอิสราเอลของขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์เมื่อปี 2515 หรือในปี 2537 ที่มีคนร้ายจะขับรถบรรทุกระเบิดปุ๋ยยูเรียและระเบิดซีโฟร์ไปโจมตีสถานทูตอิสราเอล ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จ
“ประเทศไทยอาจจะถูกมองว่าเป็น soft target (เป้าหมายอ่อน) หรือว่าเป็นพื้นที่ที่ทำการง่าย มีความหละหลวมหลาย ๆ อย่างคือความอยู่กินสบาย สุขสบายของเราในการเข้าออกง่าย ที่นักท่องเที่ยวชอบ เมื่อมาถึงประเด็นเรื่องก่อการร้าย มันกลับเป็นตรงกันข้าม มันทำให้เป็นจุดอ่อน จุดแข็งคือน่าเที่ยว น่ามาทานอาหาร แต่ว่าจุดอ่อนคือเข้าง่ายและปฏิบัติการง่าย ก็ต้องพึงระวังเป็นพิเศษ” ฐิตินันท์กล่าว
อาทิตย์เล่าว่า เดิมทีนิคมการเกษตรที่อิสราเอลนั้นจ้างชาวปาเลสไตน์ให้ทำงาน แต่เมื่อชาวปาเลสไตน์ถูกกระทำมากขึ้น พื้นที่ทำงานเหล่านี้ก็กลายเป็นจุดแทรกซึมเข้าไปก่อเหตุในอิสราเอล จึงมีการเปลี่ยนเป็นการใช้แรงงานต่างชาติแทน จุดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานต่างชาติในนิคมใกล้ฉนวนกาซ่า ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากกลุ่มฮามาสไปด้วย
อาทิตย์เสนอว่า ในอนาคต รัฐบาลควรมีการเตรียมตัวสำหรับแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งในแง่การให้ข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง และการมีแผนเผชิญเหตุที่จะเกิดขึ้น และอาจจะต้องคิดถึงตลาดแรงงานใหม่ ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงนอกจากอิสราเอล เพราะหากสงครามลากยาว ความต้องการแรงงานก็อาจจะน้อยลงตามไปด้วย
“ความยืดเยื้อและโอกาสการลุกลาม มันจะทำให้บรรดานายจ้างเขาอาจจะไม่ประสงค์ที่จะจ้างต่อ จึงเป็นเหตุผลที่ในระยะแรก แรงงานไทยจำนวนหนึ่งก็ไม่อยากกลับ เพราะประเมินว่ามันคงไม่แรงกว่านี้เท่าไหร่ แล้วถ้ากลับ แม้ว่าจะปลอดภัยแน่ แต่โอกาสที่จะย้อนมายังอิสราเอลเพื่อมาสู่ตำแหน่งงานเดิมอาจจะไม่มี”
“เรือกสวนไร่นาถูกโจมตีนะครับนายทุนอาจจะจ้างลูกจ้างที่น้อยลง แปลว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องประเมินแล้วเห็นถึงโอกาสที่แรงงานอาจจะไม่ได้มีระดับความต้องการในอิสราเอลในปริมาณที่เท่าเดิม”
หวั่นถูกตีตรา
กระแสความเห็นที่แตกต่างกันต่อประเด็นอิสราเอล-ฮามาส สะท้อนออกมาผ่านการชุมนุมในหลายประเทศ การแสดงออกของชาวมุสลิมในศาสนพิธีและบนท้องถนน พื้นที่ภาคใต้ของไทยที่มีประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการแสดงออกในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน
อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ในช่วงการละหมาดวันศุกร์ ที่มัสยิดก็มีการพูดถึงสงคราม มีการขอดุอา (ขอพร) ให้ชาวปาเลสไตน์มีความปลอดภัย นอกจากนั้น ที่มัสยิดกลางสงขลาก็มีการละหมาดฮายัตเพื่อขอพรในลักษณะเดียวกัน
อัญชนากล่าวด้วยว่า กระแสหวาดกลัวชาวมุสลิมเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวินาศกรรม 911 และยังมีผลถึงตอนนี้ เธอจึงกังวลว่าสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นซ้ำเมื่อสงครามยืดเยื้อ จึงเรียกร้องให้มีการสื่อสารโดยไม่เหมารวมผู้ที่แสดงความเห็นใจชาวปาเลสไตน์
“ปลายปีที่แล้วเราก็พาชาวบ้านไปกรุงเทพฯ เข้าไปในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คนทำงานในนั้นก็ถามว่าเออพกระเบิดมามั้ย ก็เป็นคำเดิม ๆ ที่ใช้ แต่ก็เป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นอื่นในสังคม หรือเป็นกลุ่มคนอันตรายหรือถูกเหมารวมไป”
สื่อกับรัฐจะต้องไม่เหมารวมคำว่ามุสลิม หรือว่าเหมารวมคำว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือผู้ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจชาวปาเลสไตน์ว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนฮามาส อย่างที่สอง ทำความเข้าใจว่าความเห็นอกเห็นใจผู้ที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ความเห็นอกเห็นใจนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง” อัญชนากล่าว
- ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: ศิลปวัฒนธรรม
กระดานความเห็น