เมื่อวันศุกร์ สำนักข่าว The Associated Press เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียม เผยให้เห็นการเริ่มก่อสร้างในพื้นที่โรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินฟอร์โด ประเทศอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านและสหรัฐฯ ยังคงมีความตึงเครียดเกี่ยวกับการพัฒนานิวเคลียร์
ทั้งนี้ อิหร่านยังไม่ยอมรับการก่อสร้างใหม่ดังกล่าว โดยสหรัฐฯ เปิดเผยพบโรงงานฟอร์โดต่อสาธารณะชนครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2009 ซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดจนประเทศมหาอำนาจทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านเมื่อปีค.ศ. 2015
แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวมีเพื่อจุดประสงค์ใด แต่กิจกรรมใดๆ ที่โรงงานฟอร์โดก็อาจนำไปสู่ความกังวลใหม่ ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใกล้หมดวาระลง และว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะรับช่วงเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไป
ทั้งนี้ อิหร่านได้เริ่มก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์ที่เมืองนาทานซ์แล้ว หลังเกิดเหตุระเบิดปริศนาเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยอิหร่านระบุว่าเหตุระเบิดดังกล่าวเป็นเหตุวินาศกรรม
ตัวเเทนของรัฐบาลอิหร่านในสหประชาชาติยังไม่ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวต่อประเด็นการก่อสร้างโรงงานครั้งใหม่นี้ ในขณะที่หน่วยงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ที่ติดตามกิจกรรมของอิหร่านด้วยเช่นกัน ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ IAEA ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะว่าอิหร่านได้แจ้งทางหน่วยงานถึงการก่อสร้างที่โรงงานฟอร์โดหรือไม่
ภาพดาวเทียมที่สำนักข่าว AP ได้รับจากบริษัทเทคโนโลยีอวกาศ มาซาร์ เทคโนโลจีส์ เผยให้เห็นการก่อสร้างที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนกันยายน บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของโรงงานฟอร์โด ใกล้กับเมืองกอม ห่างจากกรุงเตหะรานราว 90 กิโลเมตร
ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม เผยให้เห็นฐานที่ถูกขุดและการตั้งเสาหลายสิบเสา โดยเสาดังกล่าวเป็นเสาสำหรับรองรับโครงสร้างตึกในแถบแผ่นดินไหว
สิ่งก่อสร้างดังกล่าวยังอยู่ใกล้กับอาคารวิจัยและพัฒนาหลายอาคารในเขตโรงงานฟอร์โด เช่น อาคารศูนย์เทคโนโลยีสูญญากาศแห่งชาติ ซึ่งเทคโนโลยีสูญญากาศนี้จำเป็นต่อการทำงานของเครื่องหมุนเหวี่ยงแก๊สยูเรเนียม เพื่อผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ
ทั้งนี้ เมื่อปีค.ศ. 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านตกลงยอมลดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อแลกกับการผ่อนปรนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยผู้นำสหรัฐฯ ให้เหตุผลของการถอนตัวว่า เนื่องจากอิหร่านมีประเด็นโครงการขีปนาวุธ นโยบายในภูมิภาค และประเด็นอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย
ในขณะที่สหรัฐฯ ยกระดับมาตรการลงโทษให้รุนเเรงยิ่งขึ้น อิหร่านก็ค่อยๆ เลิกจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบมีการเผชิญหน้ารุนเเรงเมื่อช่วงต้นปี และความตึงเครียดก็ยังสูงอยู่จนถึงขณะนี้
ทั้งนี้ ในข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีค.ศ. 2015 อิหร่านตกลงที่จะหยุดเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่โรงงานฟอร์โดและทำให้โรงงานดังกล่าวเป็น “ศูนย์นิวเคลียร์ ฟิสิกส์ และเทคโนโลยี” แทน และเมื่อข้อตกลงดังกล่าวล้มเหลวลง อิหร่านก็กลับมาเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่โรงงานแห่งนี้
เจฟฟรีย์ ลีวิส ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ James Martin Center for Nonproliferation Studies ของสถาบัน Middlebury Institute of International Studies ระบุว่า พื้นที่โรงงานนี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยสหรัฐฯ ยืนกรานให้อิหร่านปิดโรงงานนี้ ในขณะที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านก็ยืนยันให้มีโรงงานต่อไปเช่นกัน
โรงงานฟอร์โดตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ ล้อมรอบด้วยปืนโจมตีอากาศยาน มีพื้นที่ขนาดประมาณเท่าสนามฟุตบอล ติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยงแก๊สยูเรเนียม 3,000 เครื่อง
ขณะนี้ อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมอยู่ที่อัตรา 4.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าข้อตกลงที่จำกัดไม่ให้อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกิน 3.67 เปอร์เซ็นต์ โดยสภาอิหร่านได้ผ่านกฎหมายให้อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมได้สูงที่สุดที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับอัตรา 90 เปอร์เซ็นต์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้มากขึ้น กฎหมายดังกล่าวยังจะไม่อนุญาตให้ IAEA เข้ามาสังเกตการณ์อีกต่อไปด้วย
ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สภาผู้พิทักษ์ของอิหร่านได้ปรับและรับรองกฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายนี้ยังตั้งเป้ากดดันชาติยุโรปให้ช่วยผ่อนปรนความเสียหายจากมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ขณะนี้อิหร่านมียูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับต่ำเพียงพอสำหรับอาวุธนิวเคลียร์อย่างน้อยสองลูก ในขณะที่อิหร่านยืนยันมาโดยตลอดว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนเป็นไปอย่างสันติ