ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานพิเศษ: สัมภาษณ์คนไทยในลอนดอนถึงผลกระทบจากการก่อการร้ายต่อเนื่อง


Commuters walk past a police officer on London Bridge in London, June 5, 2017.
Commuters walk past a police officer on London Bridge in London, June 5, 2017.

วีโอเอภาคภาษาไทย นำเสนอมุมมองของคนไทยหลากหลายอาชีพและบทบาทในอังกฤษ ถึงผลกระทบหลังการก่อการร้ายในแดนผู้ดี

จากเหตุโจมตีที่กรุงลอนดอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นับเป็นการก่อการร้ายครั้งที่ 3 ในรอบปีในดินแดนของอังกฤษ ซึ่งสร้างความสูญเสียและทำลายขวัญกำลังใจของชาวอังกฤษไปมาก

การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในดินแดนอังกฤษทั้ง 3 ครั้งในครึ่งปีแรก ได้ฝากรอยแผลทางจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ จากรูปแบบการโจมตีและบุคคลที่ก่อเหตุนั้นยากเกินกว่าจะคาดเดาได้ และทำให้พวกเขาต้องให้ดำรงชีวิตบนความหวาดกลัว

คุณภีรพล กาญจนภี คนไทยในกรุงลอนดอน บอกว่า คนไทยในอังกฤษโดยเฉพาะในกรุงลอนดอน เจ็บปวดกับการก่อการร้ายในเมืองหลวงของอังกฤษ เพราะจุดเกิดเหตุเป็นทั้งชุมชนและแหล่งทำมาหากินของชาวไทยในสหราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำได้ คือ การให้กำลังใจและเป็นหูเป็นตาให้แก่กัน

“การเสียความรู้สึกครั้งที่ 3 นั้น เป็นความรู้สึกเหมือนกับจะต้องต่อสู้แล้วนะครับ .. ทั้งเจ็บ ทั้งปวด ทั้งอึมครึม ทุกคนไปหมดเลย รวมทั้งทุกคนในนี้ด้วย ซึ่งคนไทยที่นี่ก็ทำงานแถวๆนี้ด้วยนะครับ แถวๆ London Bridge แถวๆ borough market ก็มี Stores ของคนไทย มีทั้งร้านนวดไทย แถว Area นั้นนะครับ .. อย่างวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี่ก็ ตามชุมชนไทย ที่ร้านอาหารไทย ที่วัดไทยอะไรต่างๆ ก็จะส่งข่าวกันในเรื่องที่ว่าจะต้องสู้ จะต้องอะไรกันต่อไปนี่ล่ะครับ คือเหมือนต้องให้กำลังใจกันมากกว่านะฮะ”

ด้านมุมมองของสื่อไทยที่อังกฤษ คุณรมิดา วิจิตรพันธ์ บรรณาธิการ AmThaiPaper หนังสือพิมพ์คนไทยในอังกฤษ มองว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่อังกฤษต้องเตรียมรับมือกับรูปแบบการโจมตีจากพลเมืองอังกฤษต่างเชื้อชาติ ที่มีอุดมการณ์ฝักใฝ่ความรุนแรง โดยมีสื่อกลางเผยแพร่ลัทธิผ่านอินเตอร์เน็ตและโลกออนไลน์ที่ยากต่อการควบคุม แต่เชื่อมั่นว่า ในยามที่อังกฤษเผชิญกับภัยก่อการร้ายที่เคาะประตูบ้านหลายต่อหลายครั้ง จะยิ่งทำให้คนท้องถิ่นและชุมชนไทยในอังกฤษสามัคคีกันมากขึ้น เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่ทำลายประเทศได้

“ตอนนี้มันเหมือนมีความถี่มากขึ้น แล้วก็การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต ทำให้การที่ว่าจะล้างสมองคนเหล่านี้ ให้กลายเป็นคนหัวรุนแรงก็มีได้มากขึ้น ควรจะต้องมีกฏหมายในการควบคุมสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่อุดมการณ์ทางศาสนา .. เราเปลี่ยนเขายาก .. มันก็เหมือนกับว่าอย่างมากก็พยายามหลีกเลี่ยง ก็พยายามสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน”

ด้านคุณสุนันทา โพธิ์พุฒรักษ์ นักศึกษาปริญญาโท London Business School ยอมรับว่ากังวลและไม่กลัวกับเหตุรุนแรงที่เกิดในลอนดอนบ่อยครั้งตั้งแต่เดินทางมาศึกษาต่อที่อังกฤษ เพราะเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยและทั่วกรุงลอนดอนที่มีระบบดูแลนักศึกษาและประชาชนที่เข้มงวดเพียงพอ

Thai student in London
Thai student in London

“ตั้งแต่มานี่ก็เกิดเหตุการณ์ขึ้น 2-3 รอบแล้วนะคะ .. ทุกครั้งที่ได้ยินเสียง Ambulance ได้ยินเสียงรถตำรวจ ก็จะตกใจทุกครั้งว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือว่า .. คือถ้าถามว่าปลอดภัยไหม? ถ้าอยู่แถวโรงเรียน แถวๆ Campus จะค่อนข้างปลอดภัยค่ะ แต่ว่าถ้าเกิดต้องมีการเดินทางเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน หรือว่าต้องเดินทางไปไหนมาไหนอันนี้ก็ต้องระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้นนิดนึงค่ะ .. โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยจะส่ง E-mail ออกมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ว่าควรจะประพฤติปฏิบัติตัวอะไรอย่างไร .. ของ LBS ก็จะมีการส่ง E-mail มาเหมือนกัน .. และได้ยินว่าของน้องๆในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีน้องๆ Undergrad เยอะ หรือว่าน้อง Graduate ที่ยังอายุไม่มาก เขาก็จะมีการส่งเตือนเลย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มี Dorm”

The Brandenburg Gate is illuminated with the colours of the British flag to show solidarity with the victims of the recent attack in London, in Berlin, Germany June 4, 2017.
The Brandenburg Gate is illuminated with the colours of the British flag to show solidarity with the victims of the recent attack in London, in Berlin, Germany June 4, 2017.

แม้จะแตกต่างในบทบาทหน้าที่ แต่คนไทยทั้ง 3 ก็เห็นตรงกันว่า เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดฝันและยากต่อการคาดเดาได้นั้น เป็นสิ่งที่ควรระวังแต่ไม่ควรระแวง ไม่ว่าจะมาท่องเที่ยวในระยะสั้นหรือพำนักในระยะยาว ก็ควรฝึกฝนการเป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบข้าง และติดตามข่าวสารทั้งจากทางการท้องถิ่น สถานทูตไทย และข่าวสารจากทั่วโลกอย่างใกล้ชิด

XS
SM
MD
LG