ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โฆษก กต.ย้ำไทยเป็น ‘ประเทศอำนาจกลาง’ อิงได้ทั้งสหรัฐฯ–จีน ยืนยันเป็นตัวกลางช่วยเหลือเมียนมา


อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2024
อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2024

วีโอเอพูดคุยกับอธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร ที่ร่วมเดินทางมากับคณะผู้แทนรัฐบาลไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 79 ที่นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 22-28 กันยายน 2567

อธิบดีกรมสารนิเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในส่วนของการรักษาสมดุลอำนาจของจีนและอเมริกา การทำงานร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ การช่วยจัดการสถานการณ์ความวุ่นวายในเมียนมา ไปจนถึงนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค

เรามองตัวเองเป็นประเทศ middle power ประเทศอํานาจกลางนะครับ การเป็นประเทศอํานาจกลางมันมีคาแรคเตอร์มันมีความสําคัญอันหนึ่ง มี luxury ที่จะเลือกประเด็นจะเข้าไปอิงได้
อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร

อธิบดีนิกรเดช กล่าวว่า การรักษาสมดุลของสองมหาอำนาจ คือจีนกับสหรัฐฯ ยังคงเป็นแนวทางปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นพันธมิตรเก่าแก่ยาวนาน และยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย

“แน่นอนเราก็ยึดมั่นเรื่องของการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดระหว่างสองประเทศมาโดยตลอดตอนนี้สําหรับกระทรวงการต่างประเทศมีนโยบายที่จะรักษาความสมดุลให้ดีที่สุดของของทางมหาอํานาจทั้งสองฝ่าย ผมยกตัวอย่างสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับสองแล้วนะครับ จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเรา ความสัมพันธ์ long way back ทั้งคู่นะครับ จีนนี่ปีหน้าเราจะครบฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี สหรัฐอย่างที่ผมเรียนไปแล้วจะ 190 ปีแล้วนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพูดเสมอเนี่ยก็คือถ้ามองจากเลนส์ของคนไทยเนี่ยนะครับเรามองตัวเองเป็นอะไร เรามองตัวเองเป็นประเทศ middle power ประเทศอํานาจกลางนะครับ การเป็นประเทศอํานาจกลางมันมีคาแรคเตอร์มันมีความสําคัญอันหนึ่ง มี luxury ที่จะเลือกประเด็นจะเข้าไปอิงได้ ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็มี western values ที่เราเคารพและเราก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่อง freedom of speech เรื่อง human rights เรื่อง democracy ทั้งหลาย ในฝั่งที่เป็นของจีนก็มีบางประเด็นที่เราเข้าไปมี constructive engagement ด้วยเช่นกันนะครับ”

“ผมยกตัวอย่างถ้าเราจะทําเรื่อง water management ในแม่น้ำโขง เป็นเรื่องที่เราเลือกเข้าไปเล่นกับจีน เพราะว่าจีนเป็น stakeholder หนึ่งที่สําคัญ เพราะว่าแม่น้ำโขงต้นกําเนิดอยู่ที่ประเทศจีนถูกไหมจากนั้นถ้าจะมาพูดเรื่อง water management ในแม่น้ำโขง มันมีความจําเป็นที่จะต้องเข้าไปคุยกับจีนถูกไหม อันนั้นในสายตาผมก็เป็น constructive engagement เพราะเราต้องการให้จีนร่วมมือกับเราในเรื่อง water management ในการจะปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน เป็นต้น ในขณะที่ถ้าเราต้องการคุยเรื่อง Green economy เรื่อง climate change เราก็จะยื่นมือไปหาสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกามีความชํานาญน่าจะมากกว่า”

และในขณะที่ปีนี้เป็นปีแห่งการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่า กต.สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลอเมริกันชุดใหม่ได้อย่างแน่นอนไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นปธน. และยังเชื่อว่าจากประวัติที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตมักชูนโยบายไปทางเอเชียแปซิฟิกมากกว่า

“เราติดตามพัฒนาการทางการเมืองของสหรัฐอย่างใกล้ชิดนะครับ แล้วอันนี้ผมตอบด้วยความเปิดอกเลยจริง ๆ ไม่ได้ตอบแบบการทูตเลย คือเราพร้อมที่จะทํางานใกล้กับทั้งสองพรรคนะครับ จะเป็นเดโมแครต จะเป็นรีพับลิกันมา เรามีประสบการณ์มาแล้วนะครับกับทั้งสองพรรคที่จะมาเอามาเป็นรัฐบาลใหม่นะครับ แล้วเราคิดว่าสําหรับเราความแตกต่างไม่มีในแง่ความสัมพันธ์ให้กับสหรัฐ engagement ที่เขาจะมีกับเอเชียแปซิฟิกเราคิดว่าใกล้เคียงกันกับเดิม”

“จาก past record เดโมแครตเป็นคนที่มักจะชูนโยบายที่เน้นไปทางการให้บทบาทกับเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นถ้าถามว่าถ้าจาก record เก่าของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา เราคิดว่าโอเค weight ของนโยบายต่างประเทศอาจจะเป็นพรรคเดโมแครตก็ได้ที่บอกว่า Asia pivot จะต้องเป็น pillar หนึ่งที่สําคัญของเค้านะครับ ในขณะที่พรรครีพับลิกันจาก record ก็คือเค้าอาจจะลดการให้ความสําคัญกับเอเชียแปซิฟิกลงมาหน่อยนึง แต่ผมก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกันว่าในอนาคตเนี่ยมันจะมีการ policy shift มันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนํ้าหนักนิดหน่อยรึเปล่าไม่แน่ใจ”

สำหรับคำถามเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลไทยพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาสถานการณ์ความวุ่นวายในเมียนมา อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า ได้มีการทำงานใน 3 ระดับ หนึ่งคือในฐานะที่ไทยเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมาที่มีพรมแดนติดกันเกิน 2,400 กม. และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการต่อสู้ในเมียนมา สองคือในฐานะสมาชิกภาพของสมาคมอาเซียน และสามคือในระดับประชาคมโลก

ไทยไม่เคยปิดบังนะครับว่าเราพยายามจะ maintain dialogue คุยกับทุกฝ่ายในพม่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายทหาร เพราะเราย้ำอยู่เสมอว่าเราต้องการให้เกิดสันติภาพสันติสุขในพม่า
อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร

“เราจะ engage กับพม่า หนึ่ง ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มี border ติดกัน wellbeing ของพม่า ความสงบในพม่า spillover ต่อไทยอย่างเห็นได้ชัดทันทีนะครับ ที่จับต้องได้และเห็นชัดที่สุดคือการค้าชายแดน spillover ของคนที่จะต้องมีลี้ภัยออกมาจากพม่าถ้ามีก็เข้ามาได้ อันนั้นในแง่ทวิภาคีในแง่ประเทศเพื่อนบ้าน ในแง่อาเซียน เราก็ในฐานะ member ของอาเซียนเราก็จะต้องมีบทบาทที่อาเซียนก็มองมาที่เรา สาม ในแง่ของเวทีประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการจะ engage กับพม่าหรือต้องการจะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับพม่า ใครคือหน้าต่างแรกก็ไทยใช่ไหมครับ เพราะอย่างที่บอกประเด็นก็คือเราเป็นมิตรกับทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นจีนเองก็จะหารือกับไทยในการชี้แจง engage กับพม่า สหรัฐเองก็ใช้สถานทูตสหรัฐในไทยเป็นเบสในการก็คุยกับเราเพื่อที่จะรับรู้รับทราบว่าความเป็นไปในพม่านะครับ”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยเผชิญเสียงวิจารณ์จากบางประเทศในสมาคมอาเซียน รวมทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซีย จาการที่พยายามเป็นตัวกลางคุยกับรัฐบาลทหารของเมียนมา ซึ่งอธิบดีนิกรเดชกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“ไทยไม่เคยปิดบังนะครับว่าเราพยายามจะ maintain dialogue คุยกับทุกฝ่ายในพม่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายทหาร เพราะเราย้ำอยู่เสมอว่าเราต้องการให้เกิดสันติภาพสันติสุขในพม่า แล้วกระบวนการสู่สันติภาพสันติสุขในพม่า approach มันจะต้องเกิดขึ้นจาก dialogue ของคนพม่ากี่ฝ่ายก็แล้วแต่ในพม่า ประเทศไทยพร้อมไหมที่จะเข้าไปช่วยโบรกเกอร์ให้มันเกิด dialogue นี้ พร้อมแต่ต้องได้รับการขอร้องจากฝั่งพม่าเราจะไม่อยู่ดี ๆ ก็เดินเข้าไปแล้วบอกว่า เดี๋ยวไทยจะทํานู่นนี่นั่นให้แต่ว่าถ้าเขาเห็นว่าไทยเหมาะสม ไทยพร้อมที่จะเข้าไป”

Nikorndej Balankura, spokesperson of Thailand's Ministry of Foreign Affairs, talked to VOA Thai in New York on Sep. 27, 2024.
Nikorndej Balankura, spokesperson of Thailand's Ministry of Foreign Affairs, talked to VOA Thai in New York on Sep. 27, 2024.

“ความแตกแยกคงไม่ใช่นะฮะในกรอบของอาเซียน ผมก็ไปประชุมด้วยนะครับผมไม่เห็นว่ามีความแตกแยกแน่นอนมันมีความแตกต่างทางความคิดอยู่บ้างว่าจะดีลกับพม่าด้วย approach ไหนนะครับ แต่อย่างที่ผมบอกไม่มีใครจะเข้าใจพม่าดีเหมือนคนที่อยู่ติดกับพม่าด้วยพรมแดน 2400 กิโลเมตร แล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราอยู่ในอยู่ใน situation นี้ เพราะฉะนั้นผมกลับคิดว่าภายใต้กรอบอาเซียนความคิดapproach มันแตกต่างกัน บางคนอาจจะมี stance ต่อพม่าว่า พม่าอาจจะต้อง five point consensus (ฉันทามติ 5 ข้อ) เป็นสิ่งที่อาเซียน 9 ประเทศ แต่วิธีการที่จะไปถึงมันต่างกันครับ ตรงนั้นผมว่าก็เป็นอาเซียน tradition เรารับความแตกต่างอันนี้อยู่แล้วนะครับ”

เวียดนามมีความแอดวานซ์ระดับนึงจริงแต่ skilled labor ของไทยที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลผมว่าน่าจะสูงกว่าประเทศอื่นในตอนนี้

อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังกล่าวถึงนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ digital hub ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้หยิบยกหารือกับ ASEAN Business Council (ABC) ระหว่างการประชุมที่ยูเอ็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมาตรการหนึ่งที่ไทยนำมาใช้ คือการขยายการออกวีซ่าให้กับกลุ่มผู้ที่เดินทางมาพักผ่อนและทำงานในประเทศไทย หรือ digital nomad เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะฝีมือสูงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

“มันเป็นการพยายามดึงดูด international talents ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล กลุ่มนี้ก็คือกลุ่มที่ชื่อเล่นก็คือ digital nomad เนี่ยสามารถเข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้โดยขั้นตอนวีซ่าง่ายมาก 180 วันต่อได้อีก 180 วัน ผมคิดว่าเขามีความสนใจเรื่องนี้มากนะฮะ ในเรื่อง ecosystems เช่นกัน ผมคิดว่า ecosystems ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเราใน Mainland Southeast Asia เราไม่แพ้ใครนะครับ เวียดนามมีความแอดวานซ์ระดับนึงจริงแต่ skilled labor ของไทยที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลผมว่าน่าจะสูงกว่าประเทศอื่นในตอนนี้ อันนั้นคือจุดสนใจที่ทางอเมริกันบิสเนสให้กับเราว่า ถ้าเขามาลงทุนเราไม่มี shorted of skills เรามีแรงงานด้านดิจิทัลที่พร้อม และเรามีความเฟรนลี่มากกับการเข้ามาของกลุ่มดิจิทัล ในขณะเดียวกัน ในกรอบอาเซียนเราก็ลด barrier ด้าน digital economy ลงไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นการเคลื่อนย้ายทั้งคนทั้ง product ทั้ง service ทั้งหลายข้ามพรมแดนภายในอาเซียนเองเนี่ยยิ่งนับวันยิ่ง borderless ลงเรื่อย ๆ ดังนั้นนั่นคือ attractiveness ของไทย”

  • ที่มา: วีโอเอ ภาคภาษาไทย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG