นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ภาคภาษาไทย ถึงภาพรวมการจัดลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของชาวไทยในสหรัฐฯ ที่เพิ่งปิดรับลงทะเบียนในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าค่อนข้างน่าพอใจในความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของชาวไทยในอเมริกา
“คึกคักครับ เพราะว่ายอดตอนนี้เชื่อว่าจะเกิน 15,000 คน เพราะเรานับล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น. ที่กรุงเทพฯอยู่ที่ราวๆ 14,554 คน น่าจะทะลุ 15,000 นะครับ ซึ่งถือว่าเยอะ”
ผู้มีสิทธิ์ต้องส่งบัตรเลือกตั้งถึงมือภายใน 15 มีนาคม
เอกอัครราชทูตไทย ย้ำว่า ในช่วงต่อไปจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้ลงทะเบียนจะได้รับเอกสารการลงคะแนนทางไปรษณีย์ที่จะจัดส่งไปตามที่อยู่ที่รับแจ้ง โดยผู้ใช้สิทธิ์จำเป็นจะต้องส่งกลับไปยังสถานทูตฯและสถานกงสุลให้ทันก่อนเวลาที่กำหนดคือ 15 มี.ค. พ.ศ.2562
“ที่สำคัญคือมีซองสำหรับส่งกลับ ในซองนั้นก็จะจ่าหน้าไว้เรียบร้อยเลย เช่น ที่ชิคาโก้ ก็จะส่งกลับไปที่ชิคาโก้ หรือสถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตทั้ง 4 แห่ง ท่านใช้ซองนั้นอย่าใช้ซองอื่น แล้วก็จัดการใช้สิทธิ์ของท่านไปตามคำอธิบายแล้วก็ส่งกลับ ทั้งหมดจะต้องให้ถึงที่หมายภายใน 15 มี.ค. เท่านั้น ต้องใช้ความระมัดระวังนิดนึง ไม่เช่นนั้นเสียงของท่านก็จะหายไป"
ทูต 'วีรชัย' ย้ำเป็น "สัญญานที่ดีสำหรับประชาธิปไตย"
นายวีรชัย บอกว่า แม้การเลือกตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2557 จะมียอดผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งราว 1 หมื่น 4 พันคน แต่กลับมีเอกสารเลือกตั้งส่งกลับมาเพียง 4 พันกว่าฉบับเท่านั้น แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คาดหวังจะได้รับเอกสารกลับคืนมากกว่าครั้งก่อน
“บางท่านบอกว่า ตอนปี พ.ศ.2557 ก็มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 14,003 คน ก็พอๆกันผมจึงต้องเรียนว่า ในปีนั้น เราไม่ได้ล้างไพ่ ไม่ได้ลงทะเบียนใหม่หมด (เหมือนครั้งนี้) แต่เราเอา (ตัวเลข)จากคนที่ลงทะเบียนไปแล้ว ในการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นสะสมกันมา ซึ่งจริงๆแล้วคาดว่าหลายๆคนก็ไม่อยู่แล้ว หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ในปี พ.ศ.2557 มีผู้ลงคะแนนจริงๆเพียง 4,890 คน แต่มาปีนี้..
เราเริ่มจากศูนย์แล้วมีผู้ลงทะเบียนทะลุ 15,000 คนก็คาดว่าผู้ลงคะแนนจริงก็น่าจะอยู่ที่ประมาณเดียวกันที่ 15,000 คน เราก็หวังเช่นนั้น และเป็นสัญญานที่ดีสำหรับประชาธิปไตย”วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน
หลังได้รับเอกสารเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ ทั้ง 4 แห่งในสหรัฐฯจะเป็นผู้รวมรวมและคัดแยกเอกสารส่งกลับไปสู่ประเทศไทยให้ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันยืนยันว่า ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมทำงานตลอด 24 ชั่วโมให้ภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง
รวบรวมบัตรเลือกตั้ง "ภารกิจที่ผิดพลาดไม่ได้"
“เราพร้อมเต็มที่ คือตระหนักในเรื่องนี้ โดยสถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตทั้ง 4 แห่งจะต้องจัดทำซองเอกสารเพื่อส่งออกโดยเร็วที่สุด เป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะฉะนั้นก็จะเป็นงานเกือบๆ 24 ชั่วโมง ตั้งโรงงานผลิตกันเลย ซึ่งระหว่างนั้นก็ต้องควบคุมคุณภาพให้ดี ไม่ให้มีความผิดพลาดได้ เพราะหากความผิดพลาดเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบ แก้ไขลำบากมาก อันนี้คือสิ่งที่ผมกำชับทุกฝ่ายต้องไม่ผิดเพราะผิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นแข่งกับเวลาด้วย ต้องไม่ผิดด้วย”
ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า มีชาวไทยใน 67 ประเทศมีโอกาสลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในพื้นที่ของ 94 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ขณะที่สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีชาวไทยขอใช้สิทธิ์ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้มากที่สุดราว 15,000 คน จากจำนวนผู้ขอลงทะเบียนทั้งหมดทั่วโลกราวๆ 100,000 คน