ชาวอินโดนีซียใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีในวันพุธ ซึ่งจะกำหนดอนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายโจโค วิโดโด หรือ 'โจโควี' ที่ลงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สอง
คู่แข่งของเขาในครั้งนี้ คือคู่ปรับเก่า นายพราโบโว ซูเบียนโต (Prawobo Subianto) ทั้งคู่ขึ้นโต้อภิปรายออกโทรทัศน์มาแล้วถึง 5 ครั้ง ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่าคู่แข่งทั้งสองทำได้ดีพอๆกันในการโต้อภิปราย แต่คะเเนนิยมในตัวโจโควี นำห่างพราโบโวมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ผู้สนับสนุนนายพราโวโบเตือนว่าอาจมีการโกงการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของอินโดนีเซีย บอกกับหนังสือพิมพ์ Jakarta Post ว่ายังไม่ได้รับรายงานว่าเกิดเหตุการณ์ที่ขัดขวางการเลือกตั้งแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์เควิน โอโร้ค (Kevin O'Rourke) แห่งบริษัท PT Reformasi Info Sastra กล่าวว่าจุดเปราะบางที่ยังคงอยู่ในการเลือกตั้งอินโดนีเซียคือระบบการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 5 หลังการปฏิรูปการเมือง ในปี ค.ศ. 1998 ก็ตาม
เขากล่าวว่า "ในทางทฤษฎีระบบลงทะเบียนอาจเปิดทางให้ผู้ใช้สิทธิ์ลงคะเเนนได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่น่าจะเป็นประเด็นในปีนี้เช่นกัน"
เควิน โอโร้คกล่าวด้วยว่า เรื่องการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอาจถูกหยิบมาโต้แย้งถึงความขาวสะอาดในการเลือกตั้ง
เขากล่าวว่าการใช้เหตุผลนี้มาแย้งผลการเลือกตั้งจะฟังขึ้น ถ้านายวิโดโดชนะนายพราโบโวด้วยคะเเนนที่เฉียดฉิว
ทั้งคู่เคยลงเลือกตั้งในอินโดนีเซียมาแล้ว เมื่อ 6 ปีก่อน โดยพราโบโวได้คะเเนนน้อยกว่าโจโควีร้อยละ 6 และได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อท้าทายผลการเลือกตั้งครั้งนั้น
อินโดนีเซีย มีประชากรทั้งหมด 264 ล้านคน และคาดกันว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ 190 ล้านคน โดยราว 60 ล้านเป็นประชาชนที่อายุตำ่กว่า 30 ปี
ชาวอินโดนีเซียได้เห็นผลงานของโจโควี ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และงานรักษาความมั่นคง
แต่ในขณะเดียวกัน เขาไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเรื่องการนำความยุติธรรมมาให้กับเหยื่อของการปกครองภายใต้อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และการสังหารหมู่ผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1965 รวมถึงเรื่องการปกป้องเสรีภาพทางศาสนา
ขณะเดียวกันประชาชนส่วนหนึ่งคาดหวังให้ประธานาธิบดีวิโดโด ช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรี แต่เหตุความรุนแรงต่อประชากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 76 เปอร์เซ็นต์ ในปี ค.ศ. 2016 ถึง 2017 ตามข้อมูลของสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies
และก็มีชาวอินโดนีเซียที่ต้องการให้นายวิโดโดผลักดันแนวทางอนุรักษ์นิยมของศาสนาอิสลามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หากโจโควีชนะการเลือกตั้งในวันพุธและได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง นักวิเคราะห์ มาร์คัส ไมทซ์เนอร์ (Marcus Mietzner) จากมหาวิทยาลัย Australian National University กล่าวว่าอินโดนีเซียอาจก้าวไปสู่ประเทศที่เคร่งศาสนาอิสลามมากขึ้นและมีสังคมที่เป็นอนุรักษ์นิยมกว่าปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ผู้นี้ไม่คิดว่า จะเกิดการปฏิรูปทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่ หากนายวิโดโดได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง เพราะเขาเป็นผู้เล่นการเมืองเเบบระมัดระวัง เช่นเดียวกับที่เห็นในยุคของ อดีตประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ผู้นำคนก่อนหน้านี้