ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สตรีอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างทำร้ายและโกงค่าจ้าง


สตรีอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างทำร้ายและโกงค่าจ้าง
สตรีอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกนายจ้างทำร้ายและโกงค่าจ้าง

ปัจจุบันมีชาวอินโดนีเซียเกือบ 7 ล้านคนทำงานอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เกือบครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้คือผู้หญิงที่ไปทำงานเป็นแม่บ้านหรือคนเลี้ยงเด็กตามบ้านเรือนชาวมุสลิม และแม้สตรีอินโดนีเซียที่เดินทางไปทำงานในประเทศอื่นๆต่างทราบดีถึงข่าวเกี่ยวกับภัยอันตรายและการถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง แต่ส่วนใหญ่มิได้หวาดกลัวจนล้มเลิกความตั้งใจ เพราะต้องการหาเงินมาจุนเจือครอบครัว

สตรีอินโดนีเซียหลายคนกำลังเข้าอบรมหลักสูตรนับเลขภาษาอาราบิคที่ศูนย์จัดหางานในกรุงจาการ์ต้า เพื่อพัฒนาทักษะในการติดต่อสื่อสารกับนายจ้างชาวอาหรับ ไม่ไกลกันนั้นสตรีอีกกลุ่มหนึ่งกำลังเรียนรู้วิธีใช้เตาแก้ส ใช้เครื่องทำกาแฟ เครื่องดูดฝุ่นและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในบ้านอื่นๆที่ส่วนใหญ่พวกเธอจะเคยเห็นแต่ในโทรทัศน์ สตรีจากชนบทห่างไกลในอินโดนีเซียเหล่านี้ต้องผ่านหลักสูตรการอบรมให้ครบ 200 ชม.เพื่อสามารถไปทำงานในต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปีตามสัญญาการจ้างงานที่ทำไว้

ราวครึ่งหนึ่งของชาวอินโดนีเซียที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ คือสตรีที่ไปรับจ้างเป็นแม่บ้านหรือคนเลี้ยงเด็กตามบ้านเรือนชาวมุสลิม แต่ถึงแม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกัน แต่คุณ Yuniyanti Chufaizah หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิสตรีแห่งชาติ กล่าวว่าสตรีชาวอินโดนีเซียมักจะเผชิญความเสี่ยงกับการถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงานเป็นประจำโดยไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง คุณ Yuniyanti บอกว่าคนทำงานตามบ้านในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย ถือว่าอยู่ในการดูแลของฝ่ายกิจการภายในประเทศนั้น ไม่ใช่กระทรวงแรงงาน ดังนั้นทางอินโดนีเซียจึงกำลังพยายามใช้เครือข่ายทางศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหานี้

มีสตรีอินโดนีเซียจำนวนมากถูกนายจ้างต่างชาติโกงค่าจ้างหรือถูกทำร้ายร่างกาย บางคนถูกข่มขืนหรือสังหาร บรรดาองค์กรด้านแรงงานและสิทธิสตรีในอินโดนีเซียต่างวิจารณ์ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องสิทธิของสตรีเหล่านั้น แม้พวกเธอจะส่งเงินกลับประเทศรวมๆกันถึงปีละมากกว่า 7 พันล้านดอลล่าร์ก็ตาม

เมื่อเร็วๆนี้ องค์กรมุสลิม 12 แห่งในอินโดนีเซียได้ร่วมกันเรียกร้องให้หยุดส่งแรงงานสตรีไปยังประเทศอาหรับชั่วคราว เพราะการขาดกฎหมายคุ้มครองแรงงานระหว่างประเทศเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างชาวอาหรับเอาเปรียบลูกจ้างสตรีเหล่านั้น คุณ Sulam Iqbal เลขาธิการใหญ่ขององค์กรมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย Nadhlatul Ulama บอกว่าผู้ชายสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ไม่มีปัญหา แต่ผู้หญิงควรต้องรอจนกว่าจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อปกป้องพวกเธอจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ

เมื่อไม่นานนี้ มีข่าวที่สร้างความแตกตื่นในอินโดนีเซีย เมื่อมีสตรีชาวอินโดนีเซีย 2 คนถูกนายจ้างในซาอุดิอาระเบียทำทารุณกรรม คนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส ส่วนอีกคนเสียชีวิตก่อนที่เจ้าหน้าที่จะพบศพของเธอในที่ทิ้งขยะ โดยข่าวดังกล่าวเปิดเผยออกมาในขณะที่ชาวมุสลิมหลายล้านคนกำลังเดินทางไปทำพิธีฮัดจ์ที่นครเมกกะ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดความตื่นตระหนกในข่าวนี้ แต่สำหรับสตรีชาวอินโดนีเซียหลายคนเช่นคุณ Nuryanah ผู้กำลังจะเดินทางไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบีย บอกว่าแม้เธอและเพื่อนๆจะกลัวเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวแค่ไหน แต่ก็กลัวครอบครัวจะยากจนไม่มีกินมากกว่า สตรีที่กำลังจะไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองผู้นี้บอกว่า สิ่งที่เธอพอจะทำได้ในตอนนี้ก็คือการสวดภาวนาขอให้เจอกับนายจ้างดีดี เพราะเธอเชื่อว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ครอบครัวของเธอหลุดพ้นจากความยากจนได้

XS
SM
MD
LG