ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินเดียเตรียมขุดเจาะ ช่วยชีวิต 41 คนงานติดอุโมงค์จากดินถล่ม


Members of rescue teams stand at the entrance of a tunnel where road workers are trapped after a portion of the tunnel collapsed in Uttarkashi
Members of rescue teams stand at the entrance of a tunnel where road workers are trapped after a portion of the tunnel collapsed in Uttarkashi

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเตรียมขุดเจาะอุโมงค์ในรัฐอุตตราขัณฑ์ทางตอนเหนือของอินเดีย หวังช่วยคนงานก่อสร้าง 41 คนที่ติดอยู่ข้างในมามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ หลังซากปรักหักพังและปัญหาทางเทคนิคขัดขวางการเข้าถึงทางพื้นราบ ตามการรายงานของเอพี

ดีปา กอร์ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่าคนงานที่ติดอยู่ในอุโมงค์ยังคงมีสภาพร่างกายที่ดีสุขภาพแข็งแรง โดยพวกเขาได้รับอาหารและออกซิเจนจากการลำเลียงผ่านท่อ

เดเวนดรา ปัทวาล เจ้าหน้าที่ด้านการจัดการภัยพิบัติที่รับผิดชอบปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ กล่าวว่า การขุดเจาะจากด้านบนของเนินเขาจะเริ่มขึ้นในช่วงกลางคืนวันจันทร์ และคาดว่าจะเข้าไปถึงจุดที่เป็นอุโมงค์ได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

ทั้งนี้ การขุดเจาะก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการร่วงหล่นของเศษซากที่ทับถมอยู่ด้านบน

เหตุการณ์ดินถล่ม ทำให้บางส่วนของอุโมงค์ที่มีความยาว 4.5 กม. ถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานจำนวน 41 คนที่กำลังก่อสร้างอุโมงค์อยู่บริเวณ 200 เมตรห่างจากจุดทางเข้า ต้องติดอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน

อุตตราขัณฑ์เป็นรัฐที่มีวิหารของศาสนาฮินดูกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก และมีโครงการสร้างทางหลวงอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักแสวงบุญและนักท่องเที่ยว อุโมงค์ที่เป็นจุดเกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของถนนชาร์ธัม โครงการเรือธงของรัฐที่มุ่งเชื่อมร้อยสถานที่แสวงบุญของศาสนาฮินดูไว้ด้วยกัน

เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยราว 200 คนถูกส่งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุ โดยเดิมที เจ้าหน้าที่วางแผนที่จะรื้อซากปรักหักพังจากพื้นราบ แล้วสอดท่อให้คนงานคลานออกมา แต่เครื่องจักรกลับได้รับความเสียหาย และแรงสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะก็ทำให้ซากต่าง ๆ ร่วงหล่นลงมามากกว่าเดิม

เจ้าหน้าที่ระบุว่า การขุดเจาะจากด้านบนลงสู่ด้านล่างก็อาจทำให้เศษซากที่ทับถมอยู่ร่วงหล่นลงมา แต่พวกเขาจะใช้วิธีการขุดเจาะสำหรับพื้นที่ไม่มีความแข็งแรง โดยเจ้าหน้าที่จะต้องขุดลงไปลึก 103 เมตรเพื่อไปถึงจุดที่แรงงานเหล่านั้นติดอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นระยะทางเกือบสองเท่า เมื่อเทียบกับระยะทางที่เหลือหากต้องขุดไปจากทางพื้นราบด้านหน้าอุโมงค์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระบุว่า การขุดเจาะจากทางพื้นราบจะยังคงดำเนินต่อไปด้วย

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG