ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มูลนิธิเพื่อการพัฒนานักกีฬายากจนในอินเดียยื่นมือเข้าช่วยเหลือนักกีฬายากจนให้ได้ไปแข่งขันในระดับโลก


มูลนิธิพัฒนานักกีฬาในอินเดียยื่นมือเข้าช่วยเหลือนักกีฬายากจนสู่ระดับโลก

อินเดียคือหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่รัฐบาลอินเดียใช้งบประมาณไม่ถึง 1% ในการลงทุนด้านกีฬา ซึ่งรวมถึงการพัฒนานักกีฬาและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทางกีฬา ด้วยเหตุนี้โครงการพัฒนาระดับรากหญ้าอินเดียจึงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือนักกีฬายากจนให้ได้ไปแข่งขันในระดับโลก

ทุกวันก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน Julie Yadav นักกรีฑาหญิงวัย 15 ปี จะใช้ทุ่งหรือลานกว้างในเมือง Lucknow เป็นสนามฝึกซ้อมวิ่งแข่ง เนื่องจากไม่มีสนามหรือลู่วิ่งที่เป็นมาตรฐานให้เธอซ้อม Julie Yadav บอกว่าถึงเธอจะต้องใช้ทุ่งหรือลานเป็นลู่ซ้อมวิ่ง แต่เธอก็ได้รับการดูแลฝึกฝนอย่างเต็มที่จากครูฝึกเพื่อให้เธอได้แข่งขันในระดับรัฐ

นักกรีฑาหญิงวัย 15 ปีผู้นี้ลงแข่งในระดับรัฐและได้รับเหรียญเงินจากการแข่งขันวิ่ง 400 เมตรที่รัฐอุตระประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในอินเดียคือราว 200 ล้านคน เธอยกความดีความชอบให้กับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาด้านกีฬา Sparsh Sports Development Foundation ซึ่งให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุนและปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการฝึกซ้อม จนทำให้เธอก้าวมาถึงระดับนี้

มูลนิธินี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณ Ajeet Verma เจ้าของเหรียญเงินการแข่งขันวิ่งวิบาก World Cup โดยเขาใช้เงินที่สะสมจากการทำงานเป็นพนักงานรางรถไฟมาใช้ในการสนับสนุนเยาวชนที่มีแววด้านกีฬา ไม่ว่าประเภทไหนก็ตาม คุณ Ajeet Verma ระบุว่ากีฬาประเภทเดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดียคือคริกเก็ต ส่วนกีฬาอื่นๆนั้นไม่มีแม้แต่ความช่วยเหลือด้านบริหารจัดการหรือการตลาด ทำให้นักกีฬาประเภทอื่นต้องทำงานหาเงินเพื่อนำมาใช้ในการฝึกซ้อมและการเข้าร่วมแข่งขันต่างๆ

การขาดแคลนแรงสนับสนุนด้านกีฬาในอินเดีย สะท้อนออกมาในรูปของผลงานในระดับโลก กล่าวคืออินเดียได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพียง 26 เหรียญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เทียบกับประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างจีนที่ได้เหรียญโอลิมปิกไปแล้วมากกว่า 500 เหรียญ

Manjeet Singh ครูพละที่ ร.ร แห่งหนึ่งในแถบชนบทของอินเดีย ซึ่งใช้เวลาว่างมาเป็นครูฝึกให้กับ Julie Yadav บอกว่าการขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนด้านกีฬาตั้งแต่ระดับรากหญ้า ทำให้เด็กและเยาวชนที่มีพรสวรรค์ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ เพราะขาดแคลนทุกอย่างตั้งแต่อุปกรณ์ไปจนถึงสถานที่ฝึกซ้อม ถึงกระนั้นความฝันของเด็กหลายๆคนก็มิได้จากหายไป เช่นเดียวกับ Julie Yadav นักวิ่งวัย 15 ปีผู้นี้

Yadav บอกว่าความฝันอย่างเดียวของเธอคือการได้ลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก และการจะไล่ตามฝันนั้นได้ เธอต้องอาศัยแรงสนับสนุนมากมาย นั่นคือสิ่งที่ Sparsh Sports Development Foundation เข้ามาเติมเต็มความฝันของเธอและของนักกีฬาชาวอินเดียคนอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ว่าอินเดียไม่ได้มีดีแค่กีฬาคริกเก็ตเท่านั้น

รายงานจาก Aru Pande / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG