เข้าสู่ศักราชใหม่ หลายคนอาจมองหาที่พึ่งทางจิตใจ ชวนกันไปเข้าวัดทำบุญทำทานต่าง ๆ แต่ที่อินเดียมี “เทวสถานวีซ่า” แหล่งขอพรยอดนิยมของชาวอินเดียสายย้ายประเทศ
เทวสถานพระศรีลักษมี วีซ่า คณปติ (Sri Lakshmi Visa Ganapathy Temple) ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ไมล์ทางตอนเหนือ จากสนามบินของเมืองเจนไน หรือที่มีชื่อเดิมว่าเมืองมัทราส ซึ่งเป็นเมืองที่ความพลุกพล่านบริเวณชายฝั่งมะละบาร์ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย
เทวสถานแห่งนี้ มีลักษณะเป็นช่องแคบ ๆ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพิฆเนศ เทพฮินดูที่มีเศียรเป็นช้าง ผู้คนต่างมีความเชื่อว่า การสักการะจะสามารถช่วยดลบันดาลให้ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการขอวีซ่า
“เทวสถานวีซ่า” ลักษณะนี้สามารถพบได้ทั่วไปแทบจะทุกเมืองของอินเดีย ที่มีสถานกงสุลสหรัฐฯ โดยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นผ่านการบอกเล่าแบบปากต่อปาก และการพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ ในกลุ่มผู้ขอวีซ่าสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อาร์จัน วิศวนาถัน ที่ทำงานในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหนึ่งในผู้ที่มาขอพรเพื่อให้การสัมภาษณ์วีซ่าประเทศสหรัฐฯ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เขากล่าวว่า “ผมเคยมาที่นี่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่ออธิษฐานขอวีซ่าสหราชอาณาจักรสำหรับพี่ชาย และเมื่อสองปีก่อน กลับมาอธิษฐานอีกครั้ง เพื่อขอวีซ่าสหรัฐฯ ให้กับภรรยา โดยการขอพรทั้งสองครั้งประสบความสำเร็จ เลยมีความศรัทธา” ปรากฏว่าหลังจากที่เดินทางมาขอพรได้หนึ่งวัน วีซ่าของเขาก็ได้รับอนุมัติ และวิศวนาถันเตรียมที่จะเดินทางไปรัฐนิวแฮมป์เชียร์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ห่างออกไปราวหนึ่งไมล์จากเทวสถานพระพิฆเนศ คือเทวสถานศรีลักษมี นาราซิมฮา (Sri Lakshmi Narasimha Navaneetha Krishnan Temple) ที่มีเทวรูปของหนุมาน เทพที่มีร่างเป็นมนุษย์และหน้าเหมือนลิงโดยมีอีกชื่อคือ “เทพอัญชานียา” (Anjaneya) ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพที่มีความแข็งแกร่ง มีสติปัญญา และชอบช่วยเหลือผู้อื่นนอกจากนี้ผู้คนยังตั้งสมญานามให้ว่า “เทพอัญชานียาแห่งอเมริกา” และ “เทพวีซ่าอัญชานียา”
จี.ซี. ศรีณิวสัน ผู้ดูแลเทวสถานศรีลักษมี นาราซิมฮา มาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะถูกขนานนามว่า “เทวสถานวีซ่า” ในปี 2016 เขากล่าวว่า “ในช่วงนั้น มีไม่กี่คนที่มาอธิษฐานในเรื่องการขอวีซ่า พวกเขาต่างประสบความสำเร็จ และเรื่องดังกล่าวก็ถูกพูดถึงต่อกันไป” ศรีณิวสันยังเล่าอีกว่า เมื่อเดือนที่แล้วได้เจอกับผู้ที่มาอธิษฐาน แล้วประสบความสำเร็จในการขอวีซ่า
เอส. ประทีป หนึ่งในผู้ที่มีความศรัทธา ได้นำพวงมาลัยมาสักการะหนุมาน เทพองค์โปรดของเขา โดยชี้ว่า “หากเราอธิษฐานอย่างตั้งใจ ไม่ใช่แค่เรื่องของวีซ่า แต่ทุกอย่างก็สามารถเป็นไปได้จริง”
จโยธี บอนธะ และ พานิ วีรานกิ ทั้งคู่เป็นนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่กำลังจะไปศึกษาต่อที่รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐฯ โดยทั้งสองได้ยินข่าวเรื่อง “เทวสถานวีซ่า” ผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Telegram บอนธะเล่าให้ฟังว่า ได้มาอธิษฐานที่เทวสถานพระพิฆเนศ และการสัมภาษณ์วีซ่าที่สถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเจนไน ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ทางด้าน วีรานกิ เผยว่าเธอคือคนแรกของครอบครัวที่จะได้เดินทางไปยังสหรัฐฯ เธอได้ยื่นซองที่มีใบสมัครวีซ่า ให้นักบวชนำไปวางไว้บริเวณเท้าของเทวรูปเพื่อเป็นการขอพร แม้วีรานกิจะได้ยินมาว่า การสมัครวีซ่าของบางคนถูกปฏิเสธ แต่เธอหวังว่าจะได้รับการอนุมัติ
โมฮันบาบุ จากาเนธัน และภรรยาที่ชื่อว่า สันกีธา เป็นผู้ดูแลเทวสถานพระพิฆเนศ โดยในปี 1987 คุณปู่ของจากาเนธัน ได้สร้างเทวสถานนี้ขึ้น เนื่องจากที่ตั้งของบ้านอยู่ในซอยตัน และความเชื่อของคนเอเชียมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี จึงต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยปัดเป่าความอัปมงคล
ในเมืองเจนไน สามารถพบเห็นเทวสถานลักษณะนี้ได้ตามบ้านที่ตั้งในซอยตัน จากาเนธันเล่าว่าในตอนแรก มีแต่เพื่อนบ้านที่มาสักการะ เขาเสริมว่า “หลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น คนที่ไปสัมภาษณ์ขอวีซ่า เอาไปเล่าต่อว่า ประสบความสำเร็จหลังจากมาขอพรที่นี่”
หลังจากนั้นในปี 2009 คุณพ่อของจากาเนธัน สร้างเทวสถานแห่งใหม่ โดยเพิ่มคำว่า “วีซ่า” เข้าไปในชื่อ จากาเนธันบอกว่า สถานที่นี้เป็นเหมือนกับบริการสาธารณะ เขารู้สึกอิ่มเอมใจที่เห็นผู้คนมีความสุข และกลับมาเล่าให้ฟังว่าขอวีซ่าผ่าน บางรายก็แวะมาขอบคุณครอบครัวของเขา
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนจะสมปรารถนา สันกีธา ผู้เป็นภรรยา เล่าให้ฟังถึงหญิงคนหนึ่งที่เดินทางมาจากกรุงนิวเดลี เพื่อที่จะอธิษฐานขอให้วีซ่าของเธอผ่าน เพื่อที่จะได้เดินทางไปพบหน้าหลานที่ไม่ได้เจอกันนานถึง 8 ปี ปรากฏว่าหญิงคนดังกล่าววีซ่าถูกปฏิเสธ สันกีธาให้ความเห็นเพียงสั้น ๆ ในช่วงท้ายว่า “มีแต่พระเจ้าเท่านั้น ที่รู้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น”
- ที่มา: เอพี