ความรู้สึกด้านลบของประชาชนในประเทศสมาชิกเครือจักรภพหลายประเทศเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงที่สหราชอาณาจักรมีการจัดพิธีและงานเลี้ยงมากมายสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวโรกาสที่จะทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี
ขณะที่ ประชาชนในสหราชอาณาจักรกำลังเตรียมพร้อมสำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 7 ทศวรรษของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งหลายคนมองว่า พระองค์ทรงเป็นเหมือนภูผาอันแข็งแกร่งท่ามกลางสภาพการณ์ที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วน ผู้คนในอดีตอาณานิคมของอังกฤษจำนวนไม่น้อยกลับมองว่า องค์ประมุขราชวงศ์อังกฤษนี้เป็นเหมือนตัวแทนของยุคจักรวรรดิซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอดีตของตนมาจนถึงบัดนี้
โรซาเลีย แฮมิลตัส นักวิชาการชาวจาเมกา ซึ่งมีบทบาทในการดำเนินการรณรงค์ให้เปลี่ยนสถานภาพของประเทศให้เป็นสาธาณรัฐอยู่ กล่าวว่า เมื่อเธอคิดถึงพระราชินี เธอจะคิดถึงสุภาพสตรีสูงวัยที่มีบุคลิกอ่อนหวาน แต่ระบุว่า ในกรณีของอังกฤษ มันไม่ใช่เรื่องของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่เป็นกรณีความมั่งคั่งของราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ได้มาจากความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษของเธอ และเป็นสิ่งที่ชาวจาเมกาต้องทำใจเพื่อต่อสู้กับความรู้สึกของอดีตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดนี้
ทั้งนี้ จักรวรรดิของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปัจจุบันนั้นอยู่ในสภาพที่ต่างจากเมื่อครั้งที่พระองค์ขึ้นครองราชย์อย่างมาก โดยแม้ในปัจจุบัน พระองค์จะยังทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของ 14 ประเทศนอกเหนือสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึง แคนาดา ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และบาฮามาส แต่ตัวเลขเพิ่งลดลงมาจาก 15 ประเทศ เพราะบาร์เบโดส ประกาศตัดสายสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว และหลายประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน ที่รวมถึง จาเมกา เปิดเผยแผนที่จะทำตามอย่างในเร็ว ๆ นี้แล้ว
สำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 70 ปีการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดทั่วประเทศเป็นเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้ มีการตั้งเป้าที่จะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ โดยกิจกรรมที่มีกำหนดจัดนั้นจะมีขบวนพาเหรดขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางกรุงลอนดอนในวันอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งนักแสดงคาร์นิวัลจากแคริบเบียน และนักเต้นบอลลีวู้ด เข้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของสังคมเปิดกว้างและหลากหลายของอังกฤษนั้นมีปัญหามาสักพักแล้ว หลังมีการเปิดเผยว่า ผู้คนจากประเทศแถบแคริบเบียนนับร้อยนับพันที่เดินทางเข้ามาในประเทศนี้อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลาหลายทศวรรษกลับถูกปฏิเสธสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของบ้าน หรือการสมัครงาน รวมทั้งการรับการบริการทางแพทย์ด้วย ขณะที่ บางรายประสบปัญหาถึงขั้นถูกส่งกลับประเทศ เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์สถานภาพของตนได้
รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาขอโทษในเรื่องเหล่านี้และตกลงที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่กรณีข่าวฉาว วินด์รัช (Windrush) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองอังกฤษเกี่ยวกับการส่งตัวคนเกือบ 100 คนที่ถูกคุมขังและปฏิเสธสิทธิตามกฎหมาย ออกนอกประเทศโดยไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดกระแสความโกรธทั้งภายในอังกฤษและประเทศแถบทะเลแคริบเบียนอย่างมาก
และการที่เจ้าชายวิลเลียมและเคท พระชายาไปยังประเทศเบลีซ จาเมกา และบาฮามาส เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดประสงค์จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กลับนำมาซึ่งผลลัพธ์ตรงกันข้าม หลังมีภาพของทั้งสองจับมือเด็ก ๆ ที่ยืนอยู่หลังรั้วที่มีการล่ามโซ่ไว้ และภาพขณะที่ประทับในรถแลนด์โรเวอร์เปิดประทุน ท่ามกลางขบวนพาเหรดที่จัดโดยกองทัพ ปรากฏออกมาจนทำให้มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับความรู้สึกยุคอาณานิคมก้องไปทั่ว
นอกจากนั้น ผู้ประท้วงในจาเมกายังเรียกร้องให้อังกฤษจ่ายเงินชดใช้ให้กับกรณีจับและบังคับใช้ทาส ขณะที่ นายกรัฐมนตรีแอนดรูว์ โฮลเนสส์ ยังได้ทูลเจ้าชายวิลเลียมอย่างสุภาพด้วยว่า ประเทศของตน “กำลังเดินไปข้างหน้าอยู่” ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า จาเมกาตั้งใจจะแปลงสภาพมาเป็นสาธารณรัฐแล้ว ก่อนที่ นายกรัฐมนตรีแกสตอน บราวน์ แห่งแอนติกาและบาร์บูดา จะแจ้งต่อเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระหว่างการพบกันในเดือนเมษายนว่า ในอนาคต ประเทศของเขาก็จะไม่ถือว่าพระราชินีแห่งอังกฤษ เป็นประมุขแห่งรัฐอีกต่อไปเช่นกัน
ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบางอังกฤษหวังว่า ประเทศที่ตั้งใจจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นสาธารณรัฐ จะยังคงอยู่กับเครือจักรภพซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วย 54 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน
รายงานข่าวระบุว่า ความมุ่งมั่นอย่างแข็งขันของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ต่อเครือจักรภพมีส่วนอย่างมากในการสร้างความสามัคคีในกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายและตั้งอยู่ทั่วโลก แต่องค์กรนี้ที่พยายามส่งเสริมประเด็นประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน กลับกำลังต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนอยู่
และขณะที่ ผู้นำประเทศสมาชิกเครือจักรภพมีกำหนดจะร่วมประชุมสุดยอดกันที่กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา ในเดือนนี้ มีบางฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า องค์กรนี้จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ หากเจ้าฟ้าชายชาร์ลสขึ้นครองราชย์ต่อ
นอกจากประเด็นนี้แล้ว บทบาทของอังกฤษในเวทีโลกก็เป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้อนาคตของเครือจักรภพมีความไม่แน่นอน อย่างเช่น ในกรณีของซิมบับเว ที่ถูกพักการเป็นสมาชิกองค์กรเนื่องจากสภาพการเมืองภายใต้อดีตผู้นำเผด็จการ โรเบิร์ต มูกาเบ และกำลังขอกลับเข้ามาร่วมกลุ่มอยู่นี้ เสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายในรัฐบาลกรุงฮาราเรชี้ให้เห็นว่า เริ่มไม่สนใจอังกฤษที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลใด ๆ ในประเทศนี้แล้ว ขณะที่ มหาอำนาจอื่น เช่น จีนและรัสเซีย กลับพยายามเร่งสร้างสัมพันธ์กับตนอย่างมากอยู่
ปีเตอร์ เนียเพดวา นักเคลื่อนไหวด้านสังคมรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มไม่มีความสำคัญเท่าใดแล้ว และคนส่วนใหญ่รู้จัก ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง หรือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มากกว่าพระราชินีอังกฤษแล้ว
อย่างไรก็ดี ซู ออนสโลว์ ผู้อำนวยการสถาบัน Institute of Commonwealth Studies จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน เชื่อว่า เครือจักรภพเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นอย่างมากและไม่ควรที่จะถูกลบเลือนไปจากเวทีโลก พร้อมระบุว่า “เครือจักรภพได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันโดดเด่นในการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาและนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาในช่วงเกิดวิกฤตต่าง ๆ ได้หลายครั้ง” แม้ว่า ในเวลานี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ว่า องค์กรนี้จะสามารถทำทุกอย่างที่ว่าได้อีกหรือไม่ก็ตาม
-
ที่มา: วีโอเอ