หลังจากที่ประธานาธิบดีโอบามามีคำสั่งของฝ่ายบริหารคุ้มครองคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายไม่ให้ถูกบังคับส่งตัวออกจากประเทศ และเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องและเป็นทางการ โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูประบบคนเข้าเมืองในสหรัฐฯ แล้ว ก็ได้มีความเคลื่อนไหวในกลุ่มคนต่างด้าวเพื่อรับประโยชน์จากนโยบายเรื่องนี้
และเมื่อต้นสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา มีการจัดการประชุมและฝึกอบรมสำหรับเครือข่ายคนต่างด้าวที่นครลอส แองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งคุณรัตพล อ่อนสนิท ผสข. ของวีโอเอภาคภาษาไทยได้ไปร่วมงาน
และในสัปดาห์นี้ นครลอสแองเจลิส เป็นสถานที่จัดการประชุมเครือข่ายคนต่างด้าว ในงานที่ชื่อว่า NIIC หรือ National Immigrant Integration Conference ครั้งที่ 7 หัวใจสำคัญของการประชุมและการฝึกอบรมครั้งนี้ คือการเตรียมพร้อมให้คนต่างด้าวผิดกฎหมายใช้ประโยชน์จาก นโยบายที่ประกาศโดยประธานาธิบดี โอบามา ซึ่งคุ้มครอง ผู้อยู่ในสหรัฐโดยไม่มีเอกสารวีซ่าที่ถูกต้อง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ลูกเกิดในอเมริกา
งานนี้เป็นงานใหญ่ โดยมี Eric Garcetti นายกเทศมนตรีนครลอส แองเจลิสเป็นผู้กล่าวเปิด เขาเองก็มีเชื้อสายเม็กซิกัน
ตัวแทนผู้จัดงาน Polo Morales พูดถึงความพิเศษ ของงานปีนี้ว่า ผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องขอรับคุ้มครอง ตามกฎหมายของประธานาธิบดีโอบามา และตัวแทนจากเครื่อข่ายระดับชุมชน จะได้มีโอกาสรับข้อมูล อย่างครบถ้วน เพราะผู้จัดให้เวลาหนึ่งวันเต็ม ของการประชุม 3 วัน สำหรับกฎหมายดังกล่าว หรือที่เรียกว่า DAPA (Deferred Action for Parents of Americans and Lawful Permanent Residents)
คาดว่ามีผู้เข้าข่ายรับความคุ้มครองโดยกฎหมายนี้ 5 ประมาณล้านคน และน่าจะมีจำนวนมากอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะที่นี่ เป็นรัฐที่มีคนต่างด้าวผิดกฎหมายอาศัยอยู่มากที่สุดในสหรัฐ จากการทำสำรวจของสถาบัน Pew Research
เจ้าหน้าที่รัฐก็ให้ความสำคัญกับการจัดงานของเครือข่ายชนต่างด้าวด้วย ทั้ง นายกเทศมนตรี Garcetti ของนครลอส แองเจลิส และนาย Leon Rodriguez ผู้อำนวยการของหน่วยงาน USCIS (United States Citizenship and Immigration Services) ที่เป็นผู้ให้บริการเรื่องวีซ่าและการขอสัญชาติ
นายกเทศมนตรี Garcetti กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่อยู่อย่างไม่ถูกกฎหมายในอเมริกา ควรออกมาลงทะเบียนในระบบคุ้มครองตามที่รัฐบาลประกาศ
เขากล่าวด้วยว่า ผู้ทำหน้าที่บริหารตามเมืองใหญ่ๆ สนับสนุนการใช้กฎหมายนี้ ทั้งที่ลอส แองเจลิส ชิคาโก และนิวยอร์ค เพราะเมื่อคนต่างด้าวเหล่านี้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง รัฐจะได้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น และถือว่าคนเหล่านี้เป็นฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ
ตัวอย่างโครงการนำร่องของแคลิฟอร์เนีย ที่อาจนำไปศึกษาต่อสำหรับรัฐอื่น คือการให้สิทธิ์ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทำใบขับขี่ได้
แรงสนับสนุนจากทั้งเครือข่ายคนต่างด้าวและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นที่ประจักษ์ชัดท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจเป็นปัจจัยให้คนต่างด้าวผิดกฎหมายยังไม่เห็นทิศทางชัดเจนนัก เพราะความคุ้มครองตามนโยบายของประธานาธิบดีโอบามามีระยะเวลา 3 ปีเท่านั้น
หลายคนกังวลว่าหากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเห็นต่างจากประธานาธิบดีโอบามา ขึ้นมามีอำนาจ และเปลี่ยนนโยบาย อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป
สถานการณ์นี้จึงคล้ายกับปัญหาไก่กับไข่ กล่าวคือถ้าคนไม่แน่ใจในความสำเร็จระยะยาว ก็จะไม่มาลงทะเบียน แต่ถ้ามีคนมาขึ้นทะเบียนน้อยโครงการก็จะเดินหน้าไม่ได้
ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐและตัวเเทนภาคสังคมที่ให้สัมภาษณ์กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ความสำเร็จของนโยบายนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ลงทะเบียน ยิ่งมากก็จะยิ่งมีแรงขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อทานความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น
ตัวแทนผู้จัดงาน NIIC คุณ Polo Morales ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทยว่า จำนวนผู้ยื่นขอลงทะเบียนรับการคุ้มครองที่มากยังจะช่วยให้ โครงการนี้อยู่ได้ด้วยเงินค่าธรรมเนียม เพื่อนำมาใช้จ่ายสำหรับกำลังคนและการวางระบบ โดยไม่ต้องเสี่ยงการเดิมพันว่าจะมีงบประมาณสำหรับโครงการนี้พอหรือไม่ จากสภา ซึ่ง แต่ไหนแต่ไรมามักขึ้นอยู่กับ การเปลี่ยนขั้วอำนาจการเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน