กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่า การที่รัสเซียส่งกองทัพรุกรานยูเครนในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งยังผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง และปรับเปลี่ยนพื้นฐานระบบเศรษฐกิจโลกในระยะยาวอีกด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ไอเอ็มเอฟ แสดงความเห็นผ่านโพสต์ทางเว็บไซต์ของตนเมื่อวันอังคารว่า นอกจากภาวะยากเข็ญของผู้คนนับล้านและการอพยพลี้ภัยที่หลั่งไหลไปยังประเทศต่างๆ แล้ว สงครามในครั้งนี้ยังกระตุ้นให้ราคาอาหารและพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่ง และลดทอนมูลค่าของรายได้ของผู้คน ทั้งยังส่งผลให้การค้า ห่วงโซ่อุปทาน และระบบการโอนเงินของประเทศยูเครนที่ตกเป็นเป้ารุกรานของรัสเซียนั้นหยุดชะงักไปด้วย
นอกจากนั้น วิกฤตที่ยังดำเนินอยู่นี้ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นทางธุรกิจและทำให้นักลงทุนเกิดความไม่แน่ใจ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับลดของราคาสินทรัพย์ บีบรัดสภาวะการทำธุรกิจการเงิน และอาจส่งผลให้มีการไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายด้วย
เจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟบอกกับรอยเตอร์ว่า น่าจะมีการปรับการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสำหรับปีนี้ ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.4% ให้ลดลงในเร็วๆ นี้แล้วด้วย
ในส่วนของคำเตือนอื่นๆ นั้น ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ประเทศที่มีความสัมพันธ์โดยตรงด้านการค้า การท่องเที่ยวและการเงินกับรัสเซียและยูเครนจะต้องเตรียมรับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในไม่ช้า โดยภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงนั้นได้แก่ ตั้งแต่บริเวณด้านใต้ทะเลทรายสะฮาราของทวีปแอฟริกา ไปถึงแถบละตินอเมริกา เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง
ขณะเดียวกัน ประเด็นความสั่นคลอนต่อความมั่นคงทางอาหารในบางพื้นที่ของแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ ที่นำเข้าข้าวสาลีราว 80% ที่ตนบริโภคมาจากรัสเซียและยูเครน น่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในไม่ช้านี้
ยิ่งไปกว่านั้น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูเครนและรัสเซีย และประเมินว่า ยุโรปจะเผชิญกับภาวะชะงักงันของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ ต้นทุนการเงินในภาคพื้นยุโรปตะวันออกที่รับผู้อพยพลี้ภัยจากยูเครนมานับล้านคนก็จะพุ่งสูงด้วย
ส่วนในเอเชียนั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่า ผลกระทบที่รุนแรงและชัดเจนที่สุดจะเกิดขึ้นกับประเทศผู้นำเข้าน้ำมันในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งอินเดีย และประเภทในหมู่เกาะแปซิฟิกบางแห่ง
- ที่มา: รอยเตอร์