ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ไอเอ็มเอฟ’ คาดการณ์ศก.โลกขยายตัวต่อเนื่อง-เตือนระวังเงินเฟ้อชะลอตัว


ภาพกว้างของเกาะแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์กซิตี้ ที่ถ่ายได้จากจุดชมวิวของอาคาร วัน แวนเดอร์บิลท์ เมื่อ 14 เม.ย. 2566
ภาพกว้างของเกาะแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์กซิตี้ ที่ถ่ายได้จากจุดชมวิวของอาคาร วัน แวนเดอร์บิลท์ เมื่อ 14 เม.ย. 2566

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในวันอังคารว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะเดินหน้าขยายตัวในระดับพอประมาณต่อไปในช่วง 2 ปีข้างหน้าในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง สถานการณ์ในยุโรปเริ่มฟื้นตัวและการบริโภคและการส่งออกของจีนจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่ายังมีปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ รออยู่ข้างหน้า ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

แฟ้มภาพ: สัญลักษณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่หน้าที่ทำการใหญ่ในกรุงวอชิงตัน
แฟ้มภาพ: สัญลักษณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่หน้าที่ทำการใหญ่ในกรุงวอชิงตัน

IMF ออกรายงาน World Economic Outlook (WEO) ที่มาพร้อมกับคำเตือนว่า พลวัตของการต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเริ่มชะลอตัวลงแล้ว และนั่นอาจยิ่งทำให้การลดดอกเบี้ยล่าช้าออกไป พร้อม ๆ กับทำให้ภาวะค่าเงินดอลลาร์แข็งเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ IMF คงคาดการณ์จีดีพีโลกในปี 2024 ไว้ที่ 3.2% แต่ปรับตัวเลขของปี 2025 ขึ้น 0.1% เป็น 3.3% และคงตัวเลขคาดการณ์ของสหรัฐฯ ไว้ที่ 1.9% เพราะตลาดแรงงานที่ลดความร้อนแรงลงรวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงตามแนวนโยบายการเงินแบบตึงตัว

ขณะเดียวกัน มีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนอย่างมากจาก 4.6% ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายนขึ้นเป็น 5.0% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยอ้างถึงการฟื้นตัวของภาวะการบริโภคประชาชนและการส่งออกที่แข็งแกร่ง พร้อม ๆ กับปรับขึ้นประมาณการณ์จีดีพีปี 2025 ของจีนจาก 4.1% เป็น 4.5% ด้วย

ในส่วนของยุโรป IMF ปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีของปีนี้ 0.1% เป็น 0.9% แต่คงตัวเลขปี 2025 ไว้ที่ 1.5% โดยระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปนั้น “ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว” เนื่องจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคบริการในครึ่งปีแรกและการปรับขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) ซึ่งเพิ่มขึ้นจะช่วยส่งพลังให้กับภาวะการบริโภคในปีหน้าและทำให้เกิดการผ่อนคลายด้านนโยบายทางการเงินต่อไปเพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนด้วย

นอกจากนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านบวกจากเงินเฟ้อในระยะสั้น จากการที่ราคาภาคบริการคงตัวในระดับสูงเพราะการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในธุรกิจที่เน้นการใช้แรงงาน ขณะที่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้ารอบใหม่ก็นำไปสู่การปรับขึ้นของต้นทุนสินค้านำเข้าในห่วงโซ่อุปทานซึ่งส่งผลต่อแรงกดดันด้านราคาให้ทรงตัวในระดับสูงต่อไป

ท้ายสุด ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งของหลายประเทศก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ด้วย

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG