องค์การแรงงานสากล หรือ ILO ประมาณตัวเลขเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีเเรงงาน 2 ล้าน 7 แสน 8 หมื่นคนเสียชีวิตทุกปีจากอุบัติเหตุเเละโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
ILO กล่าวว่า มีคน 374 ล้านกว่าคนได้รับบาดเจ็บหรือล้มป่วยทุกปีเนื่องจากอุบัติเหตุขณะทำงาน ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะเเรงงานต้องขาดงาน คิดเป็นเกือบร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดทั่วโลก
รายงานของ ILO ชิ้นนี้เตือนการเปลี่ยนแปลงเเละอันตรายที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในที่ทำงาน อาจจะส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ILO บอกว่าต้องมีแนวทางใหม่ๆ ออกมาใช้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางจิตใจเเละสังคม ความเครียดจากงาน เเละโรคไม่ติดต่อต่างๆ ที่เกิดจากรูปแบบใหม่ของการทำงาน
รายงานชี้ว่า การทำงานในโลกดิจิตัล ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์เเละระบบการทำงานอัตโนมัติ ต้องมีวิธีเฝ้าระวังใหม่ๆ ขึ้นมาใช้เพื่อปกป้องเเรงงาน
มานัล เอซซี (Manal Azzi) ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านความปลอดภัยในการทำงานเเละสุขภาพของ ILO กล่าวว่า ในด้านหนึ่ง เทคโนโลยีช่วยปลดปล่อยเเรงงานจากงานต่างๆ ที่สกปรกและอันตราย เเต่ในอีกด้านหนึ่ง งานที่เปลี่ยนไปเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความกังวลด้านจริยธรรม
ผู้เชี่ยวชาญเเห่ง ILO กล่าวว่า ยังมีการใช้ระบบเฝ้าติดตามที่แรงงานต้องสวม ในอดีตใช้ระบบประทับเวลาเข้าเเละออก แต่ตอนนี้เเรงงานต้องสวมอุปกรณ์ที่ข้อมือที่จะเเสดงจำนวนชั่วโมงที่คนงานทำงานในสายการผลิต
นอกจากนี้ยังมีการพูดกันถึงเรื่องใช้อุปกรณ์แบบฝัง เพื่อใช้ติดตามการทำงานของเเรงงานอยู่ตลอดเวลาขณะที่อยู่ในโรงงาน
รายงานชิ้นนี้ยังเน้นที่การเปลี่ยนแปลงด้านลักษณะทางประชากรอีกด้วย โดยชี้ว่าผู้ว่าจ้างต้องปรับตัวต่อความจำเป็นทางร่างกายของลูกจ้างที่อายุมากขึ้น ที่อาจต้องการฝึกอบรมในการใช้งานเครื่องมือใหม่ๆ อย่างปลอดภัย
ประเด็นที่สร้างความกังวลอีกอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ILO สนับสนุนการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม เเต่ชี้ว่าควรใส่ใจต่อการปกป้องเเรงงานจากอากาศที่อุ่นขึ้น ซึ่งสร้างความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น มลพิษทางอากาศ ความเครียดจากอากาศร้อนเเละโรคภัยชนิดใหม่ๆ
ในอดีต การสร้างสภาพเเวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย เน้นที่การป้องกันความเสี่ยง แต่ในปัจจุบันจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเสมอว่าอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ พวกเขากล่าวว่า ความสามารถใหม่ๆ เเละข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยเเละสุขภาพในที่ทำงาน ต้องมีการเรียนรู้ตั้งเเต่เนิ่นๆ
และก่อนที่คนหนุ่มสาวจะสมัครงาน คนเหล่านี้ต้องเข้าใจถึงสิทธิ์ของตนเพราะความรู้เเละความเข้าใจจะช่วยปกป้องเเรงงานในที่ทำงานได้
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)