รายงานล่าสุดจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) ชี้ว่า ตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลเช่นในปัจจุบันนั้น นำเสนอทั้งโอกาสการว่าจ้างงานใหม่ๆ พร้อมทั้งปัญหาความท้าทายให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน
รายงานที่มีชื่อว่า World Employment and Social Outlook 2021 ระบุว่า แพลตฟอร์มสำหรับแรงงานธุรกิจดิจิทัลทั่วโลกนั้นขยายตัวถึง 5 เท่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยตลาดที่มีความหนาแน่นของแรงงานกลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ เป็นหลัก ตามมาด้วย อินเดีย และ อังกฤษ
กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กล่าวว่า 96 เปอร์เซ็นต์ ของการลงทุนในแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีความหนาแน่นมากใน 3 ทวีป ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล หรือ การเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ (Digital Divide) ที่ขยายตัวมากขึ้นระหว่างผู้คนในซีกโลกเหนือและในซีกโลกใต้ และอาจทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมรุนแรงขึ้นได้ด้วย
นอกจากนั้น ไรเดอร์ กล่าวเสริมว่า ในปี ค.ศ. 2019 ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลาย กระจุกตัวอยู่ในเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ซึ่งก็คือ สหรัฐฯ (49 เปอร์เซ็นต์) และ จีน (22 เปอร์เซ็นต์)
ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของ ILO ซึ่งรวบรวมข้อมูลผ่านการสำรวจความคิดเห็นและการสัมภาษณ์บุคลากรและตัวแทนธุรกิจ 85 แห่งจำนวนราว 12,000 คนจากทั่วโลก พบว่า ตลาดแรงงานดิจิทัลนั้น สร้างโอกาสการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ทั้งยังนำเสนอรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นกว่าเคย อันเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับแรงงานผู้หญิง แรงงานที่เป็นผู้พิการ และแรงงานเยาวชน
แต่ในทางกลับกัน รูปแบบการทำงานใหม่ๆ นี้ มาพร้อมกับประเด็นปัญหาบางอย่าง เช่น การที่ลูกจ้างบางรายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้เข้าถึงตลาดแรงงานดิจิทัล และหลายครั้ง ที่หลายคนไม่สามารถหางานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากพอเพื่อเลี้ยงชีพ รวมทั้งไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม ที่เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ดังเช่นในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จัดทำรายงานยังพบว่า แรงงานบางส่วนต้องทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หรือทำงานโดยไม่ทราบว่าจะต้องทำนานเพียงใด และระดับของรายได้ของผู้หญิงและผู้ที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนานั้นน้อยกว่า ผู้ที่ทำงานประเภทเดียวกันในประเทศพัฒนาแล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ด้วย