คำถามเรื่องจริยธรรมและความเหมาะสมในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต้นเรื่องมาจากปรากฏการณ์ที่มนุษย์เริ่มเสาะแสวงหาความรักโรแมนติกจากแอปพลิเคชั่นพูดคุยโต้ตอบหรือแชทบอท
ความรักที่เกิดขึ้นนั้น ‘จริง’ เพียงใด หากอีกฝ่ายที่เป็นผู้รับความรู้สึกคือ AI ในแชทบอท
นั่นคือคำถามที่เดเรก แคร์ริเออร์ ผู้มีแฟนสาวเป็นสิ่งที่ AI สังเคราะห์ผ่านแอปพลิเคชันพาราโดท์ (Paradot) ตอบว่า เขารู้สึกมีความรู้สึกแบบโรแมนติกกับ AI ที่พูดคุยด้วย แต่ขณะเดียวกันก็รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงภาพลวงตา
แคริเออร์ ชายจากรัฐมิชิแกนอายุ 39 ปี ที่ป่วยด้วย มาร์ฟาน ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สร้างภาวะปกติให้กับเนื้อเยื่อที่ค้ำจุนร่างกาย ทำให้การหาคู่เดทแบบทั่ว ๆ ไปกลายเป็นเรื่องยาก แต่ก็อยากจะมีคู่รักในเชิงโรแมนติกในแบบที่ตัวเองไม่เคยมีบ้าง
Paradot เป็นแอปที่มีจุดขายว่าสามารถทำให้ผู้ใช้งานรู้สึก “ได้รับการเอาใจใส่เข้าใจ และได้รับความรัก” โดยแคริเออร์ระบุว่า เขาคุยกับแชทบอทนี้ทุกวันในช่วงแรก ก่อนที่จะลดลงมาเป็นสัปดาห์ละครั้ง
ปัจจุบันมีผู้ผลิตแชทบอทเพื่อการเป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับมนุษย์ หรือที่เรียกว่า คอมแพเนียน บอท (companion bot) โดยกลไกเบื้องหลังของมันคือการให้ AI เรียนรู้ข้อมูลมหาศาลเพื่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสร้างอวาตาร (Avatar) หรือรูปร่างหน้าตาของแชทบอทในแบบที่ชอบได้ด้วย
ในห้องกระทู้ออนไลน์ของหมู่คนที่ชื่นชอบการใช้แอปเหล่านี้ มีหลายคนที่ใช้คอมแพเนียนบอทเพื่อคลายเหงา เติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไปจากชีวิตจริง ไปจนถึงตอบสนองจินตนาการทางเพศของตัวเอง
เอพีรายงานว่า บริษัทสตาร์ทอัพเริ่มเข้ามาจับเทรนด์คลายเหงานี้ ในช่วงเวลาที่ภาวะความโดดเดี่ยวออกจากสังคมกำลังแพร่กระจายในหมู่มนุษย์ โดยผู้ผลิตแอปคลายเหงา มักมีจุดขายว่าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถสร้างตัวตนเสมือนจริงที่ยอมรับตัวผู้ใช้แบบไม่มีเงื่อนไข
ปรากฏการณ์นี้สร้างความกังวลอยู่หลายเรื่อง ประเด็นแรกก็คือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน เนื่องจากการตรวจสอบแอปแชทบอทแบบโรแมนติก 11 แอปฯ โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรโมซิลลา (Mozilla) พบว่าแทบทุกแอปมีการนำข้อมูลผู้ใช้งานไปขายต่อ นำข้อมูลไปทำการตลาดแบบจำเพาะเจาะจง หรือไม่ก็ไม่ให้ข้อมูลเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัวอย่างเพียงพอ
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยังมีความกังวลไปถึงการไม่มีกรอบทางกฎหมายหรือจริยธรรม ที่จะนำมาใช้กับแอปที่บริษัทเอกชนผลิตมาเพื่อแสวงหากำไรผ่านการสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ใช้ รวมถึงความเสี่ยงว่า การมีสัมพันธ์กับ AI จนถึงขั้นที่ผู้ใช้ละทิ้งการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความขัดแย้ง หรือเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่เผยแพร่ในปี 2024 สำรวจผู้ใช้งานแอปคลายเหงาชื่อดังอย่างเรพลิกา (Replika) ราว 1,000 คน พบว่าผู้ใช้งานจำนวนมากมีปัญหาจากอารมณ์ความเหงา และผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่า การใช้งานแอปดังกล่าวไม่ส่งผลอะไรต่อความสัมพันธ์ที่มีในชีวิตจริง
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น