ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องยูเอ็นติดตามอัพเดทสถานการณ์ปัญหาในซินเจียง


ภาพผู้ประท้วงสนับสนุนชาวอุยกูร์และต่อต้านจีนยืนถือป้าย รอการมาถึงของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง ที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 16 มิ.ย. 2567 (Photo by Asanka Ratnayake / POOL / AFP)
ภาพผู้ประท้วงสนับสนุนชาวอุยกูร์และต่อต้านจีนยืนถือป้าย รอการมาถึงของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง ที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 16 มิ.ย. 2567 (Photo by Asanka Ratnayake / POOL / AFP)

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องในวันพฤหัสบดีให้องค์การ์สหประชาชาติดำเนินการต่าง ๆ และอัพเดทข้อมูลรายงานที่จัดพิมพ์ออกมาเมื่อ 2 ปีก่อนเกี่ยวกับเหตุการณ์ละเมิดสิทธิในแคว้นซินเจียงทางตะวันตกของจีน

รายงานดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาในเดือนสิงหาคม ปี 2022 พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแคว้นอันห่างไกลของจีนนั้นถือว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ทั้งยังเน้นย้ำการค้นพบสิ่งที่เรียกว่าเป็น การล่วงละเมิด “อันน่าเชื่อถือได้” มากมาย อาทิ “การทรมาน การบังคับทำหมัน การใช้ความรุนแรงทางเพศและการบังคับแยกตัวเด็ก(ออกจากครอบครัว”

แต่จีนเรียกรายงานฉบับดังกล่าวว่า เป็น “เรื่องตลก” และเป็นความพยายามที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง

และแม้เวลาจะผ่านไปถึง 2 ปีแล้ว รายงานนี้กลับได้รับการปรับปรุงเนื้อหาเพียงเล็กน้อย ทำให้องค์กรหลายแห่ง อันได้แก่ ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมทั้ง International Service for Human Rights และสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ออกแถลงการณ์ร่วมกันในวันพฤหัสบดีเพื่อเรียกร้อง โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ลงมือทำการเพิ่มเติม

แถลงการณ์ที่ว่า มีเนื้อหาว่า “การที่ยังไม่มีการรายงานต่อสาธารณะออกมาอย่างต่อเนื่องโดยข้าหลวงใหญ่เพื่อติดตามประเด็นอาชญากรรมอันโหดร้ายป่าเถื่อนดังที่มีการบันทึกไว้โดยสำนักงานของท่านนั้นสร้างความเสี่ยงที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักงานของท่านในสายตาของเหยื่อและผู้รอดชีวิต”

เมื่อวันอังคาร เติร์ก เพิ่งพูดถึงซินเจียง ขณะนำเสนอรายงานอัพเดทสถานการณ์ทั่วโลกต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น โดยมีการระบุว่า “ยังคงมีการทำงานร่วมกัยจีนในหลากประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อันรวมถึง ความกังวลอย่างมากที่สำนักงานของผมได้พบเจอในแคว้นซินเจียง”

แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิกล่าวว่า เพียงแค่นั้นยังไม่พอ

แถลงการณ์ร่วมของกลุ่มเหล่านี้ชี้ว่า ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นไม่ได้นำเสนอ “ข้อมูลเฉพาะเจาะจงใด ๆ เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับรัฐบาล(จีน) การอัพเดทที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ในซินเจียง หรือแม้แต่การประเมินผลการดำเนินการตามคำแนะนำของรายงานของสำนักงาน(ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน)” และว่า “ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นเป็นผู้เดียวที่จะใช้ประโยชน์จากรายงานที่ว่าอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงพัฒนาสถานการณ์ของชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์กอื่น ๆ ในซินเจียง”

ในวันพฤหัสบดี กลุ่มเหล่านี้ยังวิพากษ์วิจารณ์ยูเอ็นต่อการที่ไม่จัดทำรายงานนี้ในภาษาอื่น ๆ นอกจากภาษาอังกฤษ พร้อมกล่าวว่า ทางกลุ่มได้ทำการแปลเนื้อหาอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นภาษาทางการอื่น ๆ อันได้แก่ อาหรับ ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปนและจีน แล้ว

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากเอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG