ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี เป็นผู้นำในพิธีทางศาสนาเพื่อไว้อาลัยต่อศพของพลตรี กาส์เซม สุไลมานี ผู้ถูกสังหารในปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯ ตามคำสั่งของประธานาธิบดี 'ทรัมป์' ของสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.) ที่ผ่านมา ท่ามกลางประชาชนอิหร่านหลายแสนคนที่เข้าร่วมในพิธีศพครั้งนี้ในวันจันทร์ที่กรุงเตหะราน
โลงบรรจุศพของพลตรีสุไลมานีและผู้เสียชีวิตอีก 5 คนจากการโจมตีของสหรัฐฯ เดินทางมาถึงกรุงเตหะราน ของอิหร่าน ในช่วงสุดสัปดาห์ และจะมีพิธีฝังศพในวันอังคารนี้ (7 ม.ค.) ที่เมืองเคอร์มาน บ้านเกิดของพลตรีสุไลมานี
ชาวอิหร่านพากันชูภาพของพลตรีสุไลมานี วัย 62 ปี ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน พร้อมถือป้ายต่อต้านอเมริกา และตะโกนว่า "อเมริกาและอิสราเอลจงไปตายซะ"
บุตรสาวของพลตรีสุไลมานี กล่าวต่อประชาชนอิหร่านด้วยความโศกเศร้าว่า "ทรัมป์คือสัญลักษณ์ของความโง่เขลา และเป็นของเล่นที่อยู่ในมือของขบวนการไซออนิสต์"
ขณะเดียวกัน การทวีตโต้ตอบระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับเจ้าหน้าที่ของอิหร่านยังคงดำเนินต่อไป โดยในวันจันทร์ ผู้นำสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่า "IRAN WILL NEVER HAVE A NUCLEAR WEAPON!" หรือ "อิหร่านจะไม่มีวันครอบครองอาวุธนิวเคลียร์!" หลังจากที่อิหร่านประกาศว่าจะเลิกปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์ที่ทำไว้กับประเทศตะวันตกเมื่อปี ค.ศ. 2015
เมื่อวันอาทิตย์ ปธน.ทรัมป์ ได้ทวีตว่าตนจะสั่งการโจมตีเป้าหมาย 52 แห่งในอิหร่าน "อย่างรุนแรงและรวดเร็ว" หากว่าอิหร่านโจมตีเจ้าหน้าที่อเมริกันหรือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลข 52 นี้ตรงกับตัวเลขจำนวนชาวอเมริกันที่เคยถูกอิหร่านจับเป็นตัวประกันเป็นเวลา 444 วัน ในช่วงการปฏิวัติอิสลามเมื่อปลายทศวรรษ 1970
ด้านประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซาน รูฮานี ตอบโต้คำขู่ของผู้นำสหรัฐฯ ว่า คนที่จำตัวเลข 52 ได้ ไม่ควรจะลืมตัวเลข 290 ซึ่งเป็นตัวเลขจำนวนผู้โดยสารของสายการบินอิหร่านที่เสียชีวิตหลังจากถูกสหรัฐฯ ยิงตกโดยไม่ตั้งใจ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี 1988 ในสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน