ดอกทานตะวันเป็นพืชขนาดใหญ่ที่มีดอกสีเหลืองสดใสนั้น มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในอเมริกาเหนือ โดยมีหลักฐานว่า ชนพื้นเมืองอเมริกันนำดอกไม้ชนิดนี้ไปใช้เป็นอาหารและยาตั้งแต่เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล
ในส่วนของเมล็ดทานตะวันนั้น เชื่อกันว่า นักสำรวจชาวสเปนน่าเป็นผู้นำเข้ามาในยุโรปโดยในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 และเมื่อเวลาผ่านไป ดอกทานตะวันก็ได้ไปเติบโตอยู่ในยุโรปตะวันออกอีกด้วย จนปัจจุบัน ยูเครนเป็นผู้ผลิตน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว
นอกจากนี้ ดอกทานตะวันยังได้รับความนิยมมากขึ้นในโซเชียลมีเดีย เพราะผู้คนมากมายต่างชื่นชอบการถ่ายภาพตัวเองในทุ่งทานตะวันที่สดใส โดยภาพถ่ายดังกล่าวถูกเรียกว่า “Sunflower Selfies”
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพดอกทานตะวันได้ปรากฏในโซเชียลมีเดียด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ เพื่อแสดงการสนับสนุนยูเครนหลังจากการรุกรานของรัสเซีย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสวนและนักเขียนอย่าง เจสสิก้า ดามิอาโน (Jessica Damiano) เพิ่งจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกดอกทานตะวันให้กับเอพี ซึ่งเธอระบถว่า การปลูกทานตะวันนั้นเป็นเรื่องง่าย และสามารถปลูกในกระถางได้ หากเป็นพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก
วิธีปลูก
หากต้องการปลูก ให้เริ่มจากการเพาะเมล็ดทานตะวัน โดยแช่เมล็ดลงไปในน้ำที่มีอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 2-8 ชั่วโมงเพื่อเริ่มกระบวนการปลูก จากนั้นหยอดเมล็ดลงไปในดินที่ลึก 2.5 ซม. และห่างกัน 15 ถึง 30 ซม. นอกจากนี้ ควรปลูกทานตะวันที่ภายนอกบ้านหลังจากช่วงเกิดน้ำค้างแข็งได้ผ่านพ้นไปแล้ว หรือเริ่มปลูกในบ้านเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนวันสุดท้ายของการเกิดน้ำค้างแข็ง และที่สำคัญ ต้องรักษาดินให้ดินเปียกอยู่ตลอดเวลา แต่อย่าเปียกจนเกินไป จนกว่าเมล็ดจะเริ่มงอกออกมา
เมื่อความหนาวเย็นจนทำให้เกิดน้ำค้างแข็งผ่านพ้นไปแล้ว ก็สามารถย้ายต้นทานตะวันออกมานอกบ้านได้ โดยเลือกบริเวณที่ต้นไม้จะได้รับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลาอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
เมื่อต้นทานตะวันเริ่มเติบโตขึ้น พวกมันจะมีรากยาวซึ่งจะฝังลึกลงไปในพื้นดิน ดังนั้น ก่อนที่จะปลูก จำเป็นต้องมีการเคลียร์พื้นที่โดยการขุดดินลงไปอย่างน้อย 33 ซม. เพื่อนำหินออกจากชั้นดิน
นอกจากนี้ ควรผสมปุ๋ยหมักจำนวนมากลงในดินที่ปลูกต้นทานตะวัน เนื่องจากปุ๋ยหมักช่วยให้สารอาหารที่สำคัญและยั่งยืนซึ่งจะช่วยพืชเติบโตได้ตลอดฤดูกาล โดยส่วนที่ขาดไม่ได้คือ การรดน้ำเมื่อดินเริ่มแห้ง และควรให้น้ำในปริมาณราว 250 มิลลิเมตร ต่อสัปดาห์ คอยสังเกตปริมาณน้ำฝนที่ได้รับในแต่ละสัปดาห์ และควรมีวัสดุคลุมดินที่หนาประมาณ 5 เซนติเมตรในการช่วยให้ดินกักเก็บน้ำได้
อย่างไรก็ดี ต้นทานตะวันอาจไม่ต้องการสารอาหารเพิ่มเติมหากปลูกพร้อมกับปุ๋ยหมัก แต่ถ้าหากไม่ได้ใส่ปุ๋ยหมักในระหว่างกระบวนการปลูก ก็ควรให้ปุ๋ยเอนกประสงค์หนึ่งหรือสองครั้งในช่วงฤดูเพาะปลูก
ทั้งนี้ ดอกทานตะวันบางชนิดสามารถเติบโตได้สูงถึงสามเมตร ซึ่งหมายความตัวต้นอาจต้องการการปกป้องจากลมแรง ดังนั้นการปลูกดอกทานตะวันชนิดนี้ไว้ใกล้ ๆ กับโครงสร้างหรืออาคารที่จะช่วยปกป้องพวกมันจากลมได้จะเป็นการดีที่สุด หรือจะผูกต้นทานตะวันไว้กับอะไรที่สูง ๆ เพื่อช่วยค้ำลำต้นก็ได้
และเมื่อดอกไม้บานแล้ว ก็สามารถตัดไปไว้ในบ้าน โดยนำไปใส่ลงในภาชนะที่มีน้ำ ก่อนที่จะเพลิดเพลินไปกับความสดใสและสวยงามของดอกทานตะวัน
วิธีรับประทาน
นอกจากดอกทานตะวันจะมีความสวยงามแล้ว เรายังสามารถนำมารับประทานได้อีกด้วย
เมื่อดอกไม้เริ่มร่วงหล่นตอนสิ้นสุดฤดูกาล ส่วนหลังของดอกจะเป็นสีน้ำตาล และเมล็ดของมันจะเริ่มงอกออกมาจากหัว โดยให้ตัดดอกออกจากต้น แล้วนำไปใส่ถุงหรือภาชนะก่อนจะนำเมล็ดออกจากดอกโดยการถูด้วยมือหรือใช้แปรงที่แข็ง ๆ จากนั้น จึงนำเมล็ดไปล้างแล้วตากข้ามคืนให้แห้ง
เราสามารถรับประทานเมล็ดทานตะวันได้ทั้งแบบสุกและแบบดิบ ซึ่งถ้าหากต้องการอบเมล็ดทานตะวัน เราต้องใช้เตาอบที่ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 165 องศาเซลเซียส โดยเมื่อเตาอบร้อน แล้วให้อบเมล็ดทานตะวันจนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาตั้งแต่ 15 ถึง 30 นาที
และหากต้องการให้เมล็ดทานตะวันมีรสเค็ม ก็ให้ต้มเมล็ดทานตะวันในน้ำเกลือเป็นเวลา 90 นาทีถึง 2 ชั่วโมง จากนั้นก็ปล่อยให้แห้งแล้วนำไปอบในเตาอบ ก่อนที่จะนำมารับประทาน
- ที่มา: เอพี