คุณ Michael Dickinson ผู้เชี่ยวชาญจาก California Institute of Technology ได้ศึกษาธรรมชาติของยุงมานานหลายปี เขาร่วมมือกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Washington เพื่อค้นหาว่ายุง ซึ่งมีสมองขนาดเท่าเม็ดทราย รู้ได้อย่างไรว่าเหยื่ออยู่ตรงไหน
ผู้เชี่ยวชาญคนนี้กล่าวว่า ยุง ก็เหมือนแมลงทั่วไป ที่มองเห็นไม่ชัด ยุงจะใช้ความสามารถในการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยมเป็นเครื่องมือช่วยในการระบุจุดที่ตั้งของเหยื่อ ยุงตัวเมียจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้หากไม่สามารถล่าเหยื่อเพื่อดูดเลือดที่อุดมไปด้วยโปรตีนไปเป็นอาหาร ทีมนักวิจัยชี้ว่าตลอดหลายล้านปีที่ผ่านมา ยุงตัวเมียผ่านวิวัฒนาการที่ปรับปรุงความสามารถในการดมกลิ่นเพื่อเสาะหาเหยื่อแม้ว่าจะมองเห็นไม่ชัดก็ตาม
คุณ Dickinson กล่าวว่ายุงมองเห็นภาพเพียงรางๆ เท่านั้น นักวิจัยชี้ว่าในระยะไม่เกิน 10 เมตร ยุงสามารถบินตามกลิ่นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดหายใจออกมา
เมื่อยุงบินเข้าไปใกล้แหล่งกำเนิดของกลิ่น ยุงจะปรับไปใช้ความสามารถในการมองเห็นที่เลือนลางของมันในการระบุที่ตั้งของเหยื่อเพื่อดูดเลือด ทีมนักวิจัยสรุปได้เช่นนั้นหลังจากทำการวิจัยเพื่อศึกษาความสามารถในการมองเห็นของยุงกับการล่าเหยื่อ
คุณ Dickinson ได้พัฒนาอุโมงค์ลมขึ้นมาแล้วปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในอุโมงค์ ทีมนักวิจัยติดตั้งกล้องถ่ายภาพหลายตัวในอุโมงค์เพื่อจับภาพลักษณะการบินของยุงอยู่ภายในอุโมงค์ ทีมงานฉายภาพสีดำหลายๆ ภาพลงบนพื้นและผนังของอุโมงค์ลมดังกล่าวเพื่อดูว่ายุงตอบสนองของยุงต่อภาพที่เห็นอย่างไร
คุณ Dickinson กล่าวว่ายุงตัวเมียที่หิวโซ เมื่อปล่อยเข้าไปในอุโมงค์ลม จะไม่ใส่ใจต่อภาพต่างๆ ที่ฉายเข้าไปในอุโมงค์จนกระทั่งมันได้กลิ่นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากได้กลิ่นแล้ว ยุงจะเริ่มสนใจต่อภาพที่มองเห็น เพื่อระบุที่ตั้งของเหยื่อก่อนจะบินไปเกาะที่ภาพดังกล่าว
ทางด้านคุณ Matt DeGennaro ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัย Florida International University ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการวิจัย กล่าวว่าการเข้าใจยุทธศาสตร์ในการเสาะหาเหยื่อของยุงจะช่วยในการพัฒนายากันยุงยุคใหม่ เขากล่าวว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจขั้นตอนการหาเหยื่อของยุงเสียก่อนเพื่อพยายามค้นหาวิธีสกัดความสามารถเหล่านี้ของยุง เพื่อออกแบบและพัฒนาวิธีป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต